Abstract:
ความวิตกกังวลจากการย้ายออกจากหอผู้ป่วยหนักมีความสำคัญต่อการฟื้นหายหลังจากการย้ายออกจากหอผู้ป่วยหนัก วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาความวิตกกังวลจากการย้ายออก และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวลในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่ย้ายออกจากหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 82 ราย คัดเลือก โดยวิธีการสุ่มอย่างง่ายจากผู้ป่วยที่ย้ายออกจากหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เครื่องมือที่ใช้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป แบบบันทึกประวัติการเจ็บป่วย และการรักษา แบบสอบถามความวิตกกังวลจากการย้ายออกจากหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบบสอบถามการรับรู้ความรุนแรงของโรค และแบบสอบถามการสนับสนุนด้านข้อมูลและอารมณ์ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .86, .93 และ.80 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน ผลการวิจัยพบว่า ความวิตกกังวลของกลุ่มตัวอย่างจากการย้ายออกจากหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในระดับปานกลาง (M =76.59, SD =8.27) การรับรู้ความรุนแรงของความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับความวิตกกังวลจากการย้ายอออกจากหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rs = .343, p< .01) แต่ไม่พบความสัมพันธ์ ระหว่างระยะเวลาการนอนในหอผู้ป่วยการสนับสนุนด้านข้อมูลและอารมณ์กับความวิตกกังวล จากการย้ายออกจากหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (p> .05) ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการลดการรับรู้ความรุนแรงของการเจ็บป่วยก่อนการย้ายออกจากหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเป็นสิ่งสำคัญ พยาบาลควรให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ถูกต้อง และเพียงพอ รวมทั้งการวางแผนการย้ายออกอย่างเหมาะสมจะช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจากการย้ายออกจากหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้