Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาองค์ประกอบของระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพแบบภควันตภาพ หลักสูตรการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ สาขาวิชาการจัดการโรงแรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ภูมิภาคตะวันออก 2) ทดสอบประสิทธิภาพระบบ การพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ 3) ศึกษาความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนจากระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ และ 5) ประเมินและรับรองระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ได้แก่ 1) ผู้เชี่ยวชาญในการแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแนวคิดร่างต้นแบบระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ จำนวน 15 คน และ 2) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โรงเรียนวอนนภาศัพท์ จังหวัดชลบุรี ในการทดสอบประสิทธิภาพของระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ จำนวน 39 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) ระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ 2) แบบทดสอบก่อนเรียน และหลังเรียน 3) แบบวัดทักษะการจัดการโรงแรม 4) แบบสังเกตคุณลักษณะการจัดการโรงแรม 5) แบบวัดเจตคติต่อวิชาชีพการจัดการโรงแรม 6) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน ต่อระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ และ 7) แบบประเมินเพื่อรับรองระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ จากผู้ทรงคุณวุฒิ สถิติพื้นฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน E1/ E2 และการทดสอบค่าที ผลจากการวิจัย พบว่า 1. ระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพแบบภควันตภาพ หลักสูตรการจัดการศึกษา เพื่อ การมีงานทำ สาขาวิชาการจัดการโรงแรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ภูมิภาคตะวันออก มีชื่อเรียกว่า “แผนโสภางค์พักตร์” มี 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การวิเคราะห์สถานการณ์ 2) การตรวจสอบความพร้อม 3) การศึกษาเนื้อหา 4) การฝึกการปฏิบัติ 5) การประเมินผล และ 6) การตรวจสอบและปรับปรุงระบบ ส่วนขั้นตอนของระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 วิเคราะห์ความพร้อม ขั้นที่ 2 ชี้แนะวิธีการเรียนแบบภควันตภาพ ขั้นที่ 3 ทดสอบก่อนเรียน ขั้นที่ 4 ศึกษาเนื้อหาสาระ ขั้นที่ 5 ทบทวนความรู้ ขั้นที่ 6 ฝึกปฏิบัติ และ ขั้นที่ 7 ประเมินผลการปฏิบัติ 2. ผลการทดสอบประสิทธิภาพของชุดพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพที่ผลิตตามระบบ การพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ พบว่า มีค่าประสิทธิภาพ E1/ E2 = 80/ 82.33 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ ที่กำหนด 80/ 80 3. ผลการศึกษาความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียน ที่เรียนจากระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ พบว่า มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ พบว่า มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด ( = 4.51, SD = 0.31) 5. ผลการประเมินและรับรองระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน พบว่า ผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นต่อระบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพ ฯ อยู่ในเกณฑ์ “เหมาะสมมาก” โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.37