Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องกลมกลืนขององค์ประกอบเชิงยืนยันของการรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพกับข้อมูลเชิงประจักษ์ 2) เพื่อศึกษาผลของการปรึกษารายบุคคลเชิงบูรณาการทฤษฎีและเทคนิคเพื่อพัฒนาการรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพของนักเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในภาคกลาง แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกที่ใช้ในการศึกษาองค์ประกอบของการรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพ จำนวน 1,200 คน ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ 2 เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยผู้วิจัยนำคะแนนการรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพมาจัดเรียงจากคะแนนน้อยไปหามาก และสอบถามความสมัครใจ โดยพิจารณาคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 28 คน เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม คือ กลุ่มทดลองได้รับการปรึกษารายบุคคลเชิงบูรณาการทฤษฎี และเทคนิค ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับการปรึกษารายบุคคลเชิงบูรณาการ ผลการวิจัยสรุปได้ ดังนี้ 1. การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันการรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพของนักเรียนมัธยมศึกษา พบว่า โมเดลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันการรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพ 6 องค์ประกอบ ได้แก่ การรับรู้ความสามารถทางการเรียน ความสนใจในอาชีพ การคาดหวังผลลัพธ์ทางอาชีพ เป้าหมายทางอาชีพ การสนับสนุนจากครอบครัว และความสามารถในการจัดการปัญหามีค่า ความเหมาะสมพอดีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีน้ำหนักองค์ประกอบอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และพบว่าการรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพของนักเรียนมัธยมศึกษาในภาคกลาง อยู่ในระดับปานกลาง มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.47 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง-มาก มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.20-3.63 2. การรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพของนักเรียนกลุ่มทดลองที่เข้าร่วม การปรึกษารายบุคคลเชิงบูรณาการทฤษฎีและเทคนิค หลังการทดลองและติดตามผลมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อน การทดลอง แสดงว่าการปรึกษารายบุคคลเชิงบูรณาการทฤษฎีและเทคนิคมีผลทำให้การรับรู้ความสามารถในการเลือกอาชีพของนักเรียนมัธยมศึกษาสูงขึ้น