Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตครอบครัวในครอบครัวหย่าร้าง และ 2) เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมการปรึกษาเชิงบูรณาการทฤษฎีและเทคนิคในครอบครัวหย่าร้าง แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มาจากครอบครัวหย่าร้างและอาศัยอยู่กับบิดาหรือมารดาของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 10 ในจังหวัดเพชรบุรี กลุ่มตัวอย่างในขั้นตอนที่ 1 ใช้ศึกษาคุณภาพชีวิตครอบครัวในครอบครัวหย่าร้าง จำนวน 1,000 คน เป็นนักเรียน จำนวน 500 คน และบิดาหรือมารดา จำนวน 500 คน ได้มาจากการใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน กลุ่มตัวอย่าง ในขั้นตอนที่ 2 จำนวน 24 ครอบครัว สุ่มอย่างง่ายแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 12 ครอบครัว กลุ่มทดลองได้รับการปรึกษาครอบครัวเชิงบูรณาการทฤษฎีและเทคนิค การปรึกษา จำนวน 12 ครั้ง ๆ ละ 60 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบวัดคุณภาพชีวิตครอบครัวมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .94 และโปรแกรมการปรึกษาครอบครัวเชิงบูรณาการทฤษฎีและเทคนิคการปรึกษา โดยใช้รูปแบบการทดลองแบบทางเดียวเมื่อมีการวัดซ้ำ แบ่งการทดลองออกเป็น 4 ระยะ คือ ก่อนทดลอง การทดลอง หลังการทดลองและติดตามผล การวิเคราะห์ข้อมูล ค่าสถิติขั้นพื้นฐาน และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่ 2 และสถิติทดสอบความแปรปรวนแบบมีการวัดซ้ำ ผลการศึกษาวิจัย สรุปได้ดังนี้ 1. คุณภาพชีวิตครอบครัวในครอบครัวหย่าร้าง โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.73 โดยมีด้านความอยู่ดีมีสุขด้านร่างกายมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.05 รองลงมาคือ ด้านปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.90 ด้านความอยู่ดีมีสุขด้านอารมณ์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.72 ด้านการสนับสนุนสิ่งที่สมาชิกครอบครัวไม่สามารถกระทำได้ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.61 ด้านความเป็นพ่อแม่ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.39 ตามลำดับ 2. คุณภาพชีวิตครอบครัวในครอบครัวหย่าร้างกลุ่มทดลองหลังการเข้าร่วมการให้ การปรึกษาครอบครัวและเมื่อสิ้นสุดการติดตามผลสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. คุณภาพชีวิตครอบครัวในครอบครัวหย่าร้างกลุ่มทดลองหลังการเข้าร่วมการให้ การปรึกษาครอบครัวและเมื่อสิ้นสุดการติดตามผลสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05