Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้การบริหารจัดการสุขภาพเด็กวัยเรียน ภาคตะวันออก กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้แทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดูแลสุขภาพวัยเรียน ได้แก่ ครอบครัว,โรงเรียน,สถานบริการสุขภาพ,องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น,องค์กรชุมชนต่างๆ และผู้นำในชุมชนใน 3 หมู่บ้าน ของพื้นที่ 2 ตำบล จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง กระบวนการศึกษาเพื่อประเมินรูปแบบเครือข่ายการบริหารจัดการสุขภาพเด็กวัยเรียนเดิมของชุมชนและการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ใช้กระบวนการประชาคม การประชุมกลุ่มย่อย การสัมภาษณ์เชิงลึก โดยได้มีการตรวจสอบความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้ด้วยการเก็บข้อมูลจากหลายๆแหล่งร่วมกัน (triangulation technique) การสะท้อนกลับของข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง (data reflections) นำข้อมูลทีได้มาวิเคราะห์เนื้อหา ได้ผลการศึกษาดังนี้
1.รูปแบบเครือข่ายการบริหารจัดการสุขภาพเด็กวัยเรียนของชุมชนเดิม ประกอบด้วย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการจัดการสุขภาพเด็กวัยเรียนจากองค์กรชุมชนทุกภาคส่วน และผู้นำชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำแบบเป็นทางการ รวมตัวกันและดำเนินงานตามบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ ตามหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ แกนนำในการประชุมจะเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายมีความสัมพันธ์กันแบบแนวราบ
2.รูปแบบการแก้ไขปัญหาสุขภาพเด็กวัยเรียนของเครือข่าย ประกอบด้วย 1) การดำเนินงานตามผู้รู้ จากภายในและภายนอกที่คิดแทนชุมชนแล้วนำความรู้นั้นมามอบให้กับชุมชน 2) การดำเนินงานตามแผนโครงการขององค์กรชุมชนเอง และ/หรืออาศัยการมีส่วนร่วมจากสมาชิกชุมชน ซึง่จะมีความแตกต่างกันตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่ดำเนินการอยู่ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 3) ชุมชนคิดริเริ่ม และดำเนินการเอง
3.กระบวนการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมก่อนการสร้างเครือข่าย, การสร้างเครือข่าย และการจัดเวทีแลกเปลียนเรียนรู้ โดยบรูณาการเข้ากับบทบาทหน้าที่เดิมและเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วม ผลผลิตที่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนทั้งในระดับกลุ่มและเครือข่าย รวมทั้งเกิดจิตสำนึกในการทำงานร่วมกัน การทำงานบูรณาการทุกภาคส่วน การขยายความรู้ และการรับรู้ และการพัฒนาคุณภาพงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ