Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากร สังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา 2) ศึกษาปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยผู้บังคับบัญชา ปัจจัยลักษณะของงาน และปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงาน 3) สร้างสมการพยากรณ์คุณภาพชีวิตการทำงาน และ 4) ศึกษาปรากฏการณ์เชิงตัวแปรที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงาน กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรสังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 200 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างด้วยโปรแกรม G*Power และวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถามปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงาน และแบบสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณและปรากฏการณ์เชิงตัวแปรที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงาน ผลการศึกษา พบว่า 1. คุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมาก ไปน้อย ได้แก่ ด้านสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัยและส่งเสริมสุขภาพ ด้านการบูรณาการทางสังคม ด้านความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว ด้านความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงาน และ ด้านค่าตอบแทนที่เพียงพอและเป็นธรรม ตามลำดับ 2. ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรโดยรวมอยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ได้แก่ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ การเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ความพร้อมของเทคโนโลยี วัสดุอุปกรณ์ การบริหารจัดการองค์กร การมีอิสระในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร โอกาสในการรับรู้ผลการทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา ภาวะผู้นำ และประสบการณ์การทำงาน ตามลำดับ 3. ตัวแปรที่สามารถพยากรณ์คุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากร ได้แก่ ความพร้อมของเทคโนโลยีวัสดุอุปกรณ์ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ โอกาสในการรับรู้ผลการทำงาน ความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา การบริหารจัดการองค์กร การเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ และประสบการณ์การทำงาน สามารถพยากรณ์คุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากร ได้ร้อยละ 60.60 มีสมการถดถอยพหุคูณในรูปคะแนนมาตรฐาน คือ ZY = .205Z_(X_4 ) + .243Z_(X_8 ) + .254Z_(X_9 ) + .211Z_(X_6 ) + .254Z_(X_1 ) - .172Z_(X_2 ) + .095Z_(X_3 ) 4. จากการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตการทำงาน ของบุคลากรมีผลการวิจัยที่สอดคล้องกัน