Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา เปรียบเทียบปัญหา และศึกษาแนวทาง การแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานของครูผู้ช่วยในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 ในด้านการปฏิบัติงาน 5 ด้าน จำแนกตามเพศ ขนาดโรงเรียน และฟังข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานของครูผู้ช่วย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 107 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของ เครจชี่ และมอร์แกน (1970, หน้า 607-610) ซึ่งใช้การวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) ตามขนาด ของโรงเรียน และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสัมภาษณ์ ได้แก่ ครูผู้ควบคุมดูแลครูผู้ช่วย จำนวน 4 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์มีลักษณะแบบมีโครงสร้าง ค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .39-77 และได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับ เท่ากับ .97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) การทดสอบความแปรปรวน ทางเดียว (One-way ANOVA) และการทดสอบรายคู่ด้วยวิธีของเชฟเฟ (Scheffe) ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัญหาการปฏิบัติงานของครูผู้ช่วยในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 มีค่าเฉลี่ยโดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับปานกลาง เรียงอันดับ จากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน ด้านการพัฒนาทางวิชาการ ด้านการพัฒนาผู้เรียน ด้านการจัดการเรียนรู้และด้านการพัฒนาโรงเรียน 2. เปรียบเทียบปัญหาการปฏิบัติงานของครูผู้ช่วยสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 จำแนกตามเพศ พบว่า โดยรวมและเป็นรายด้านแตกต่างกัน อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านการพัฒนาโรงเรียน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จำแนกตามขนาดโรงเรียน พบว่า โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. แนวทางการแก้ปัญหาการปฏิบัติงานของครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจันทบุรี เขต 1 จำนวน 3 ด้าน ที่ควรนำไปปรับใช้มากที่สุด 3.1 ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน โรงเรียนควรให้ความร่วมมือกับชุมชนในทุกด้าน ที่สำคัญอีกประการ คือ ครูผู้ช่วยต้องเปิดใจให้ความร่วมมือกับชุมชน และทางโรงเรียน ควรจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน 3.2 ด้านการพัฒนาวิชาการ โรงเรียนควรจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นหลัก มีการพัฒนานวัตกรรมการสอน การใช้เทคโนโลยีในการสอน และการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอน 3.3 ด้านการพัฒนาผู้เรียน ครูนิเทศควรช่วยแนะนำครูผู้มีประสบการณ์ และความสามารถในการจัดกิจกรรม คณะครูควรพาผู้เรียนออกศึกษานอกสถานที่ และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นประจำ