Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาระดับของวัฒนธรรมองค์การ องค์การแห่งการเรียนรู้ และความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมองค์การกับการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ของโรงเรียนสังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ครูผู้สอนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 ตามตารางของ Krejcie and Morgan ซึ่งได้จาก การสุ่มอย่างง่าย (Sample random sampling) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 313 คน เครื่องมือเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมองค์การกับการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ วัฒนธรรมองค์การ ของโรงเรียน มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .36-.89 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .98 และองค์การ แห่งการเรียนรู้ของโรงเรียน มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .40-.88 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (r) ผลการวิจัย พบว่า 1. ผลการศึกษาวัฒนธรรมองค์การในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 โดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน อยู่ในระดับมาก 1 ด้าน คือ ความมุ่งประสงค์ของโรงเรียน และอยู่ในระดับปานกลาง 8 ด้าน เรียงอันดับจาก มากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ การตัดสินใจ ความไว้วางใจ และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน 2. ผลการศึกษาองค์การแห่งการเรียนรู้ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้านแล้วเรียงอันดับจาก มากไปน้อย 3 อันดับ ได้ดังนี้ ด้านการบริหารความรู้ ด้านพลวัตรแห่งการเรียนรู้ และการใช้เทคโนโลยี 3. ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมองค์การกับองค์การแห่งการเรียนรู้ ของโรงเรียน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 โดยรวมความสัมพันธ์อยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณารายด้านระหว่างวัฒนธรรมองค์การของโรงเรียนกับองค์การแห่งการเรียนรู้ ความสัมพันธ์อยู่ในระดับสูง 2 ด้าน เรียงลำดับความสัมพันธ์จากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านความหลากหลายของบุคลากร และด้านการยอมรับ และความสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง 8 ด้าน เรียงอันดับความสัมพันธ์จากมากไปน้อย ได้แก่ ด้านความไว้วางใจ ด้านความมีคุณภาพ ด้านความซื่อสัตย์สุจริต ด้านความเอื้ออาทร ด้านความมุ่งประสงค์ของโรงเรียน ด้านการตัดสินใจ ด้านการเสริมพลัง และด้านความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน