Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของครูผู้สอน และแนวทาง การพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของครูผู้สอนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี จำนวน 66 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 67 ข้อ และ แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 8 ข้อ แบบสอบถามให้เลือกตอบ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .28 ถึง .83 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ .98 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติค่าเฉลี่ย (X) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ผลการวิจัย พบว่า 1. คุณภาพชีวิตการทำงานของครูผู้สอนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18 โดยรวมอยู่ในระดับมาก 2. แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานของครูผู้สอนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรีสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 18 ได้แก่ 1) ด้านค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม มีความเป็นธรรมในการเลื่อนขั้นเงินเดือน เสริมแรงให้ครูทำงานอย่างมีความสุข มีการปรับปรุงและจัดสรรสวัสดิการให้ดีขึ้น เช่น การจัดสรรบ้านพักแก่ครูสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางมาทำงานไกล หรือผู้ที่ต้องอาศัยบ้านเช่า เพื่อลดค่าใช้จ่าย ในการเดินทาง 2) ด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย ควรรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม รวมทั้งอาคาร สถานที่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ควรปรับปรุงสภาพแวดล้อม ในโรงเรียนเอื้ออำนวยต่อสุขภาพกายและจิต 3) ด้านการพัฒนาความสามารถของบุคคล ให้โอกาสแก่ครูในการศึกษาการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และควรมีการปรับปรุงการมอบหมายงานพิเศษนอกเหนือจากงานสอน โดยผู้บริหารโรงเรียนควรยึดหลักความสามารถและหลักการหาคนที่เหมาะสมมาทำงานที่ได้กำหนดไว้ใน การมอบหมายงานพิเศษ 4) ด้านความก้าวหน้าและความมั่นคงในงาน ส่งเสริมให้ครูได้พัฒนาผลงานทางวิชาการ มีการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น 5) ด้านบูรณาการทางสังคม จัดอบรมพัฒนาครูตามโครงการ PLC ชุมชนแห่ง การเรียนรู้ พิจารณาความสามารถก่อนจะหมอบหมายงานและเชื่อมั่นในความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา 6) ด้านระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงาน ควรให้ครูมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางและระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสม 7) ด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการปฏิบัติงาน มอบหมายงานให้เหมาะสมกับความสามารถของครู และปริมาณงานที่ได้รับเหมาะสมกับกำหนดเวลา 8) ด้านการปฏิบัติงานในสังคม ครูควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรให้บรรลุตามเป้าประสงค์ ทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหา ยกย่องเชิดชูเกียรติของครูที่มีผลงานทางด้านต่าง ๆ