Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคาดหวังของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดการเรียนรู้สู่อาชีพของโรงเรียนตราดสรรเสริญวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 ปีการศึกษา 2559 จำแนกตามวุฒิการศึกษา อาชีพ และระดับชั้นของนักเรียน โดยใช้เกณฑ์กำหนดจำนวนกลุ่มตัวอย่าง จากตารางกลุ่มตัวอย่างของเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970, pp. 608-610) ได้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครอง จำนวน 234 คน จากนั้นใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) ตามระดับชั้นการศึกษาของนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวบข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตรตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating scale) ค่าอำนาจจำแนกของแบบสอบถามอยู่ระหว่าง .43-.87 ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ .98 สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าคะแนนเฉลี่ย ( ) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และการวิเคราะห์เปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธีการทดสอบของเชฟเฟ่ (Scheffe’s method) ผลการวิจัยพบว่า 1. ความหวังของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดการเรียนรู้สู่อาชีพของโรงเรียนตราดสรรเสริญวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก 2. การเปรียบเทียบความหวังของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดการเรียนรู้สู่อาชีพของโรงเรียนตราดสรรเสริญวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 จำแนกตามวุฒิการศึกษา และอาชีพของผู้ปกครอง โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. การเปรียบเทียบความหวังของผู้ปกครองที่มีต่อการจัดการเรียนรู้สู่อาชีพของโรงเรียนตราดสรรเสริญวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 17 จำแนกตามระดับชั้นการศึกษาของนักเรียน โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05