Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านหนองชากแง้ว สู่การรองรับการประกันคุณภาพภายนอก รอบสี่ ในด้านการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา การกำหนดแผนการพัฒนาการจัดการศึกษา การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษา การติดตามตรวจสอบการจัดการศึกษา การประเมินคุณภาพภายใน การจัดทำรายงานประจำปีและการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เอกสารและการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ผู้ให้ข้อมูลหลักในการสัมภาษณ์ ได้แก่ ผู้บริหาร 1 คน นักวิชาการศึกษา 1 คน คณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน 2 คน ครูผู้สอน 6 คน ผู้ปกครองเครือข่าย 6 คน รวมทั้งสิ้น 16 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. สภาพปัญหาการประกันคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านหนองชากแง้ว สู่การรองรับการประกันคุณภาพภายนอก รอบสี่ สถานศึกษาใช้มาตรฐานและตัวบ่งชี้ และรูปแบบการจัดทำรายงานประจำปี ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ยังไม่มีความชัดเจนและมีความซับซ้อนมากจนเกินไป ส่วนใหญ่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีส่วนร่วมในดำเนินงานระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา การจัดทำโครงการ/ กิจกรรมบางอย่างไม่มีความสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและชุมชน และหน่วยงานนอกเข้ามาจัดโครงการ/กิจกรรม โดยไม่ได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติงานประจำปี ทำให้สถานศึกษาเกิดปัญหาในการดำเนินงาน ครูและบุคลากรขาดความรู้ ความสามารถและขาดความรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย ภาระงานของครูมากและการมอบหมายงานที่ไม่มีความเหมาะสม ส่งผลให้งานไม่ประสบผลสำเร็จหรือมีประสิทธิภาพ รวมทั้งขาดวางแผนการทำงานที่เป็นระบบ การไม่นำจุดอ่อน จุดเด่นของสถานศึกษาวิเคราะห์หาสาเหตุและหาแนวทางแก้ไขในการพัฒนาการจัดการศึกษาครั้งต่อไป รวมทั้งขาดการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ 2. แนวทางการพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษาโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านหนองชากแง้ว สู่การรองรับ การประกันคุณภาพภายนอก รอบสี่ สถานศึกษาจะต้องนำระบบวงจรคุณภาพ PDCA มาใช้ในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้มีการวางแผนที่เป็นระบบ และจัดสรรบุคลากรเข้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามความสามารถและความถนัด มีการติดตาม ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยให้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาบทบาทร่วมกันในการจัดการศึกษา ผู้บริหารจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี การทำงานของบุคลากรจะต้องมีคุณภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณสิ่งอำนวยความสะดวก และจัดอบรมพัฒนาให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ