Abstract:
การวิจัยเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัญหาการบริหารงานพัสดุจำแนกตามจำนวนคาบสอนต่อสัปดาห์ ประสบการณ์ในงานพัสดุ และขนาดโรงเรียน และหาแนวทางการบริหารงานพัสดุโรงเรียนในกลุ่มนิคมพัฒนา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ บุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานพัสดุในโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนนิคมพัฒนา ปีการศึกษา 2558 จำนวน 70 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) แบ่งเป็น 3 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป ลักษณะเป็นแบบสอบถามแบบสำรวจรายการ (Check list) ตอนที่ 2 แบบสอบถามปัญหาการบริหารงานพัสดุโรงเรียนในกลุ่มนิคมพัฒนา เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating scale) มีอำนาจจำแนกรายข้อ .27-.83 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ 0.95 และตอนที่ 3 แบบสอบถามแนวทางการบริหารงานพัสดุโรงเรียนในกลุ่มนิคมพัฒนา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 ลักษณะเป็นแบบเลือกตอบเรียงความสำคัญจำเป็น 3 ลำดับ สถิติที่ใช้ใน การวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (μ ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (σ) การทดสอบขนาดความแตกต่าง (Effect size: ES) ความถี่ (f) และค่าร้อยละ (%) ผลการวิจัย พบว่า 1. ปัญหาการบริหารงานพัสดุโรงเรียนในกลุ่มนิคมพัฒนา โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลาง โดยเรียงอันดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการควบคุมพัสดุ ด้านการจัดหาพัสดุ ด้านการจำหน่ายพัสดุ และด้านการบำรุงรักษาพัสดุ ตามลำดับ 2. การเปรียบเทียบปัญหาการบริหารงานพัสดุโรงเรียนในกลุ่มนิคมพัฒนา จำแนกตามจำนวนคาบสอนต่อสัปดาห์ โดยรวม ด้านการจัดหาพัสดุและด้านการบำรุงรักษาพัสดุ แตกต่างระดับมาก ส่วนด้านการควบคุมพัสดุและด้านการจำหน่ายพัสดุ แตกต่างระดับปานกลาง จำแนกตามประสบการณ์ ในงานพัสดุ โดยรวมและรายด้าน ไม่แตกต่างกัน และจำแนกตามขนาดโรงเรียน ระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดกลางโดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน ระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กกับโรงเรียนขนาดใหญ่และระหว่างโรงเรียนขนาดกลางกับโรงเรียนขนาดใหญ่โดยรวมและรายด้านแตกต่างระดับมาก 3. แนวทางการบริหารงานพัสดุโรงเรียนในกลุ่มนิคมพัฒนา ด้านการจัดหาพัสดุ ควรจัดทำแผนการจัดทำคู่มือแบบฟอร์มการจัดซื้อจัดจ้างและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้โรงเรียนปฏิบัติงานเป็นแนวทางเดียวกัน ด้านการควบคุมพัสดุ ควรกำหนดขั้นตอนการเบิก-จ่ายที่ชัดเจน ด้านการบำรุงรักษา ควรตั้งงบประมาณในการซ่อมแซมพัสดุให้เพียงพอ และด้านการจำหน่าย ควรมีการจัดอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานให้มีความรู้ความเข้าใจ และปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันเป็นประจำทุกปี