Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริการของกองคลัง เทศบาลตำบลสัตหีบใน 3 มิติ ได้แก่ ความพึงพอใจด้านกระบวนการขั้นตอนการให้บริการ ความพึงพอใจด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ และความพึงพอใจด้านสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งสำรวจปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการรับบริการที่ประชาชนมีต่อการบริการของเทศบาลตำบลสัตหีบ ประชากรในการวิจัย ได้แก่ ผู้ที่มาใช้บริการของกองคลัง เทศบาลตำบลสัตหีบในรอบปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550) มีจำนวน 2,000 คน การกำหนดกลุ่มตัวอย่างของการสำรวจตามการเปิดตารางสำเร็จรูปได้จำนวนตัวอย่างที่ต้องการ 322 คน โดยใช้วิธีการสุ่มแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) จากผู้มาใช้บริการ ในช่วงระหว่างเดือนกรกำาคม 2550-สิงหาคม 2550 และสำรวจจากประชาชนผู้รับบริการภาคสนามตามหมู่บ้าน
ผลการวิจัยพบว่า ด้านความพึงพอใจในการให้บริการของกองคลังเทศบาลตำบลสัตหีบรวมทุกมิติคุณภาพการบริการ เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินคะแนนตามมิติที่ 2 ด้านคุณภาพการให้บริการ โดยประเมินจากจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด (3.50 ขึ้นไป) วิเคราะห์เป็นจำนวนคนเทียบเป็นร้อยละกับจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถาม ผลการศึกษาพบว่า มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มีความพึงพอใจในการให้บริการของกองคลัง เทศบาลตำบลสัตหีบร้อยละ 82.60 เมื่อเทียบกับคะแนนตามเกณฑ์ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ 7 คะแนนเต็มและเมื่อพิจารณาตามมาตราประมาณค่า 5 ระดับ พบว่า มีระดับคะแนนความพึงพอใจโดยรวมเท่ากับ 3.68 จัดอยู่ในระดับพอใจมาก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบแยกเป็นรายมิติคุณภาพการบริการพบว่า มิติคุณภาพบริการที่ได้รับคะแนนความพึงพอใจสุงสุดอันดับ 1 ได้แก่ ด้านกระบวนการให้บริการ มีระดับคะแนนความพึงพอใจเท่ากับ 3.87 อยู่ในระดับพึงพอใจมาก อันดับ 2 ได้แก่ ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ มีระดับคะแนนความพึงพอใจ เท่ากับ 3.77 อยู่ในระดับความพึงพอใจมาก และอันดับ 3 ได้แก่ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก มีระดับคะแนนความพึงพอใจเท่ากับ 3.40 อยู่ในระดับพึงพอใจปานกลาง สำหรับข้อมุลจากคำถามปลายเปิด ผู้ใช้บริการได้นำเสนอข้อติชมโดยแยกเป็นรายบมิติของคุณภาพการให้บริการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของกองคลัง เทศบาลบาลตำบลสัตหีบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย กองคลัง เทศบาลตำบลสัตหีบควรทำการพัฒนาคุณภาพการให้บริการในด้านสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะเรื่องความสะดวก สบายของสถานที่ที่มีติดต่อราชการ นอกจากนี้ควรกำหนดแผนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการไว้ในแผนยุทธศาสตร์ขององค์การ และควรดำเนินการจัดทำแผนงานโครงการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอรวมทั้งควรนำข้อเสนอแนะเป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป