Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมดุลงานและสมดุลครอบครัว ของบุคคลวัยทำงาน 2) เพื่อพัฒนาสมดุลงานและครอบครัวของบุคคลวัยทำงานโดยการปรึกษากลุ่มแบบบูรณาการ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้เป็นบุคคลวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-45 ปี ทำงานในบริษัทเอกชน ในเขตภาคตะวันออก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 705 คน ใช้ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมดุลงานกับสมดุลครอบครัวของบุคคลวัยทำงาน กลุ่มตัวอย่างที่ 2 จำนวน 20 คน สุ่มอย่างง่ายเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 คน กลุ่มทดลองได้รับการพัฒนาสมดุลงานและครอบครัวโดยใช้ การปรึกษากลุ่มแบบบูรณาการ ดำเนินการปรึกษากลุ่มจำนวน 12 ครั้ง ๆ ละ 90 นาที กลุ่มควบคุมใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดสมดุลงานและครอบครัวที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น มีค่าความเชื่อมั่นของแบบวัดโดยสูตรสัมประสิทธ์อัลฟ่า (α-Coefficient Reliability) เท่ากับ 0.83 และ การปรึกษากลุ่มแบบบูรณาการมีค่าดัชนีความสอดคล้องอยู่ระหว่าง .06-1.0 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสมดุลงานกับสมดุลครอบครัว และการวิเคราะห์ความแปรปรวน แบบวัดซ้ำ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. สมดุลครอบครัวส่งผลทางตรงต่อสมดุลงานได้ร้อยละ 41 และสมดุลงานส่งผลทางตรง ต่อสมดุลครอบครัวได้ร้อยละ 62 โดยได้มีการดำเนินการปรับแก้ (Adjust Model) แบบจำลองสมการโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมดุลงานกับสมดุลครอบครัวของบุคคลวัยทำงาน ที่มีความกลมกลืน กับข้อมูลเชิงประจักษ์ในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งพิจารณาจากดัชนีความกลมกลืน (Fit Index) จาก 2= 26.97 df = 22, p-value = .21250, 2 / df = 1.22, RMSEA = .018, RMR = .0046, SRMR = .014, CFI = 1.00, GFI = .99, AGFI = .98, CN = 1017.91 2. สมดุลงานและครอบครัวของกลุ่มทดลองที่ได้รับรูปแบบการปรึกษากลุ่มแบบบูรณาการ มีคะแนนในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองและระยะติดตามแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 3. สมดุลงานและครอบครัวของกลุ่มทดลองที่ได้รับรูปแบบการปรึกษากลุ่มแบบบูรณาการและกลุ่มควบคุมมีคะแนนระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01