Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมการปรึกษากลุ่มเชิงจิตวิทยาแบบบูรณาการเชิงทฤษฎี และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการเสพติดอินเทอร์เน็ต ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของกลุ่มทดลอง โดยเปรียบเทียบในระยะเส้นฐาน ระยะทดลอง และระยะติดตามผล ใช้แบบแผนการทดลอง ABF และมีกลุ่มควบคุม (ABF control group design) กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสวายจีกพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นระยะเวลามากกว่า 3 ชั่วโมงติดต่อกันต่อครั้ง และมีคะแนนการเสพติดอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับ 50-100 คะแนน จำนวน 24 คน สุ่มเข้ากลุ่มโดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 12 คน และกลุ่มควบคุม 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบวัดพฤติกรรมเสพติดอินเทอร์เน็ต (Young’s internet addiction test; YIAT20) มีค่า ความเชื่อมั่นเท่ากับ .86 แบบบันทึกพฤติกรรมการเสพติดอินเทอร์เน็ตและโปรแกรมการปรึกษากลุ่มเชิงจิตวิทยาแบบบูรณาการเชิงทฤษฎีต่อการเสพติดอินเทอร์เน็ตของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย การทดลองแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนทดลอง ระยะทดลอง และระยะติดตามผล โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบบูรณาการเชิงทฤษฎีที่พัฒนาขึ้น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จำนวน 9 สัปดาห์ รวมเป็น 17 ครั้ง ครั้งละ 60 นาที และกลุ่มควบคุมไม่ได้รับโปรแกรม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Independent t-test เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการเสพติดอินเทอร์เน็ตระยะก่อนทดลองและ หลังทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ผลการวิจัยพบว่า ในระยะหลังการทดลอง กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการปรึกษากลุ่มเชิงจิตวิทยาแบบบูรณาการเชิงทฤษฎีจะมีคะแนนพฤติกรรมการเสพติดอินเทอร์เน็ตน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพฤติกรรมการเสพติดอินเทอร์เน็ตของกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการปรึกษากลุ่มเชิงจิตวิทยาแบบบูรณาการเชิงทฤษฎีในระยะทดลองและระยะติดตามผลลดลงกว่าระยะเส้นฐาน