Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัญหาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 จำแนกตามสาขาที่จบการศึกษา ประสบการณ์สอนในระดับปฐมวัย และขนาดของสถานศึกษา และศึกษาแนวทางการพัฒนา การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในสถานศึกษา ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการสร้างหลักสูตร ที่เหมาะสม ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของเด็ก ด้านจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ด้านประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก และด้านความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอนระดับปฐมวัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 จำนวน 159 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจจำแนกของแบบสอบถามระหว่าง .28-.80 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ .96 สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และทดสอบรายคู่โดยวิธี LSD ผลการวิจัย พบว่า 1. ปัญหาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง 2. เปรียบเทียบปัญหาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในสถานศึกษา สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 จำแนกตามสาขาวิชาที่จบการศึกษา ขนาดของสถานศึกษา และจำแนกประสบการณ์ในการสอนระดับปฐมวัย โดยรวมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. แนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 2 ด้านการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม ควรจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับความต้องการ ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ควรจัดสภาพแวดล้อมที่สนองความต้องการ ความสนใจ และพัฒนาการของเด็ก ด้านการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ควรส่งเสริมกระบวนการสังเกตการฟัง และการกล้าแสดงออก ด้านประเมินพัฒนาการและ การเรียนรู้ของเด็ก ควรประเมินพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และด้านความสัมพันธ์ระหว่าง บ้านและสถานศึกษา สถานศึกษาควรแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ให้ผู้ปกครองทราบ