Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการสอนการทำงานเป็นทีม แบบอิงประสบการณ์ สำหรับนิสิตครู มหาวิทยาลัยบูรพา และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของระบบที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่าง คือ นิสิต ครู มหาวิทยาลัยบูรพา ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ได้มาจากการสุ่มตัวอย่าง แบบแบ่งกลุ่ม (Cluster sampling) จำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินความสามารถในการทำงานเป็นทีม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test dependent) ค่าประสิทธิภาพ E1/ E2 ผลการวิจัยมีดังนี้ 1. ระบบการสอนการทำงานเป็นทีม แบบอิงประสบการณ์ สำหรับนิสิต ครู มหาวิทยาลัยบูรพา ประกอบไปด้วย ส่วนปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ 1) สภาพปัญหา และความต้องการในการพัฒนาการทำงานเป็นทีม 2) แนวคิดการสอนแบบอิงประสบการณ์ 3) วัตถุประสงค์ของระบบ 4) ผู้เรียน 5) ผู้สอน 6) แผนการสอน 7) แหล่งเรียนรู้ 8) แบบประเมินความสามารถในการทำงานเป็นทีม ส่วนกระบวนการ (Process) ขั้นตอนการสอนการทำงานเป็นทีม แบบอิงประสบการณ์ ได้แก่ 1) นำเข้าสู่บทเรียน 2) มอบหมายงานและแบ่งทีม 3) แจ้งวัตถุประสงค์และแจ้งประสบการณ์ที่คาดหวังของงาน 4) ทดสอบก่อนเผชิญประสบการณ์ 5) เผชิญประสบการณ์ 6) ผจญประสบการณ์ 7) เผด็จประสบการณ์ 8) ทดสอบหลังเรียน ส่วนผลลัพธ์ (Output) ได้แก่ 1) ความสามารถในการทำงานเป็นทีม 2) ผลสัมฤทธิ์ในการเรียน ส่วนผลย้อนกลับ (Feedback) ได้แก่ 1) ความสามารถในการทำงานเป็นทีม 2) ผลสัมฤทธิ์ในการเรียน 3) ประสิทธิภาพของระบบการสอน 2. ผลการทดสอบประสิทธิภาพ พบว่า ค่าเฉลี่ยร้อยละคะแนนความสามารถในการทำงานเป็นทีม ก่อนเรียนและหลังเรียน (Pretest/ Posttest) หน่วยการเรียนที่ 1 เท่ากับ 52.52/ 53.46 หน่วยการเรียนที่ 2 เท่ากับ 53.46/ 55.06 แสดงว่า ความสามารถในการทำงานเป็นทีมของผู้เรียนเพิ่มขึ้นหลังจากเรียนด้วยระบบการสอนที่พัฒนาขึ้น และคะแนนเฉลี่ยของกิจกรรม ระหว่างเรียนและหลังเรียน กำหนดเกณฑ์ที่ 80/ 80 พบว่า คะแนนผลสัมฤทธิ์การเรียนของหน่วยที่ 1 คือ E1/ E2 = 82.93/ 82.00 และหน่วยที่ 2 คือ E1/ E2 = 81.86/ 84.26 ซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 3. ผลการรับรองคุณภาพ ระบบการสอนการทำงานเป็นทีม แบบอิงประสบการณ์ สำหรับนิสิตครู มหาวิทยาลัยบูรพา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ของมาตรประมาณค่า (Rating scale) 5 ระดับ พบว่า มีความเหมาะสมอยู่ในระดับ มาก ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.49