Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบ และหาแนวทางการเสริมสร้างบรรยากาศองค์การของโรงเรียนในสหวิทยาเขตเมืองชลบุรี 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 จำแนกตามเพศ ขนาดโรงเรียน และประสบการณ์การทำงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้มาจากกำหนดกลุ่มตัวอย่างตามตารางของเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970, pp. 607-609) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 146 คน โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) จำแนกตามระดับชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ระดับค่าอำนาจจำแนกรายข้อระหว่าง .21-.75 ค่าความเชื่อมั่น .93 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1. ผลการศึกษาบรรยากาศองค์การของโรงเรียนในสหวิทยาเขตเมืองชลบุรี 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก 2. ผลการเปรียบเทียบบรรยากาศองค์การในโรงเรียนในสหวิทยาเขตเมืองชลบุรี 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1จำแนกตามเพศ โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ จำแนกตามขนาดของโรงเรียน โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้น ด้านความภักดีต่อองค์การ แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ โดยโรงเรียนขนาดใหญ่มีบรรยากาศองค์การของโรงเรียนดีกว่าโรงเรียนขนาดกลาง จำแนกตามประสบการณ์การทำงาน โดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. แนวทางการเสริมสร้างบรรยากาศองค์การในโรงเรียนในสหวิทยาเขตเมืองชลบุรี 3 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 ด้านโครงสร้างองค์การ โรงเรียนควรมีกฎระเบียบที่ชัดเจน เพื่อให้การปฏิบัติงาน ด้านความท้าทายและความรับผิดชอบ ผู้บริหารควรกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของครูและบุคลากรไว้อย่างชัดเจน ด้านความอบอุ่นและการสนับสนุน เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานผู้บริหาร ครูและบุคลากรทุกคนควรให้ความร่วมมือช่วยเหลือกัน ด้านการให้รางวัลและการลงโทษ ผู้บริหารควรมีความยุติธรรมในการให้รางวัลตอบแทนจากการปฏิบัติงาน ด้านความขัดแย้ง ครูควรยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการปฏิบัติงานร่วมกัน ด้านมาตรฐานของผลการปฏิบัติงานและความคาดหวัง โรงเรียนควรมีการติดตามเพื่อปรับปรุงงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ด้านความภักดีต่อองค์การ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการทำงานผู้บริหารควรให้ความช่วยเหลือแนะนำแก่ครูและบุคลากร ด้านความเสี่ยงภัย โรงเรียนควรเปิดโอกาสให้ครูและบุคลากรรับผิดชอบงานใหม่เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรในโรงเรียน