Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อกำหนดความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์ 2) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์ 3) เพื่อวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์ การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการสำรวจในการเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยในครั้งนี้ คือ ครูในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 (ชลบุรี-ระยอง) ที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 224 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลโดย วิเคราะห์ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ลิสเรล (LISREL analysis) และใช้เทคนิค Modified priority needs index (PNIModified) ในการจัดลำดับความสำคัญ สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบไขว้ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุการณ์ และความเป็นไปได้ในการเกิดผลกระทบของเหตุการณ์วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ ค่าอัตราส่วนแต้มต่อและดัชนีบ่งชี้ผลกระทบ ผลการวิเคราะห์สรุปได้ดังนี้ 1. ครูมีความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์ด้านทักษะการสอนมากที่สุด รองลงมาคือ ด้านความรู้ในการปฏิบัติงาน และด้านคุณลักษณะของบุคคล 2. โมเดลลิสเรลที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีค่าไค-สแควร์ =25.45, ค่าองศาอิสระ =48, P=0.99693, GFI= 0.96, AGFI = 0.92 และ RMR = 0.090 ตัวแปรในโมเดลสามารถอธิบายความแปรปรวนของความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์ได้ร้อยละ 38 ผลการวิเคราะห์ ลิสเรล พบว่า ปัจจัยสาเหตุที่ส่งผลต่อความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญ คือ ตัวแปรความรู้ในการปฏิบัติงาน 3. ผลการวิเคราะห์ลิสเรล โมเดลแนวทางการแก้ปัญหาความต้องการจำเป็นในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์ พบว่า มีค่าไค-สแควร์ =32.43, ค่าองศาอิสระ =31, P=0.39630, GFI= 0.97, AGFI = 0.95 และ RMR = 0.026 โมเดลสามารถอธิบายความแปรปรวนของแนวทางการแก้ปัญหาความต้องการจำเป็นในการพัฒนา สมรรถนะครูคณิตศาสตร์ได้ร้อยละ 21 แนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาสมรรถนะครูคณิตศาสตร์มากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญ คือ การศึกษาดูงาน รองลงมา คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการ และผลการวิเคราะห์ผลกระทบไขว้พบว่า การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองกระทบไปถึงวิธีการอื่น ๆ ได้มากที่สุด