Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาและเปรียบเทียบแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูในกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 จำแนกตามเพศ ขนาดของโรงเรียนและประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ ข้าราชการครูในกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 จำนวน 117 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง .36-.88 มีค่าความเชื่อมั่น .97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) การทดสอบค่าที (t-test) และวิเคราะห์โดยใช้สถิติ ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า 1. แรงจูงใจในการปฏิบัติงานของข้าราชการครูในกลุ่มโรงเรียนบางละมุง 1 สังกัดสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 3 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าทุกด้านอยู่ในระดับมาก โดยมีรายละเอียดรายด้าน ดังนี้ 1) ด้านความต้องการดำรงชีวิตโดยรวมและ รายข้ออยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ ความรู้สึกว่ามีความมั่นคง ในการประกอบอาชีพครู การได้รับอนุญาตให้ลาหยุดเมื่อจำเป็นหรือเจ็บป่วย และการได้รับรู้นโยบายใน การบริหารงานของโรงเรียน 2) ด้านความต้องการมีสัมพันธภาพโดยรวมและรายข้ออยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ การมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน 3) ด้านความต้องการด้านความเจริญก้าวหน้า โดยรวมและรายข้ออยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 อันดับแรก ได้แก่ การได้รับการส่งเสริมให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ความเหมาะสมในการปฏิบัติงานด้านการสอนและการปฏิบัติงานได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ 2. เปรียบเทียบแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน จำแนกตามเพศ โดยรวมและรายด้านแตกต่างกัน อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 3. เปรียบเทียบแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน จำแนกตามขนาดโรงเรียน โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 4. เปรียบเทียบแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน จำแนกตามประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ