Abstract:
ผู้สูงอายุมีชีวิตอยู่มายาวนาน ใช้ชีวิตทำงานหนักเลี้ยงลูกหลานเกือบตลอดชีวิต สุขภาพร่างกายย่อมเสื่อมโทรม และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย จิต และสังคม จึงต้องมีการดูแลส่งเสริมและเอาใจใส่ให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างยาวนานที่สุด การศึกษาครั้งนี้จึงต้องการหาความสัมพันธ์ระหว่างทักษะชีวิตกับการสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ 250 คน ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ของตำบลหนองกะขะ ซึ่งสุ่มได้จากผู้สูงอายุในอำเภอพานทอง ข้อมูลเก็บด้วยการสัมภาษณ์ที่บ้านตามแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ระหว่างวันที่ 3 – 31 มีนาคม 2560 ข้อมูลวิเคราะห์ด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษา พบว่า ผู้สูงอายุส่วนมาก (60.8%) เป็นผู้หญิง อายุเฉลี่ย 68.99 + 5.70 ปี ส่วนมาก (64.4%) มีบุตรเป็นผู้ดูแลประจำ เป็นโรคความดันโลหิตสูง (39.6%) มากสุด รองลงมาเป็นโรคเบาหวาน (26.4%) โรคข้อและกล้ามเนื้อ (12.0%) จำนวนมาก (38.4%) มีดัชนีมวลกายค่อนข้างท้วม ผู้สูงอายุจำนวนมากสุด (45.6%) มีทักษะชีวิตสร้างเสริมสุขภาพตนเองระดับมาก มีเพียงร้อยละ 21.2 ใช้ระดับน้อย เป็นทักษะชีวิตเชิงทักษะพิสัยมากสุด รองลงมาเชิงพุทธพิสัย และเชิงจิตตพิสัยน้อยสุด ร้อยละ 45.6, 42.0 และร้อยละ 40.4 ตามลำดับ การสร้างเสริมสุขภาพระดับปานกลาง (78.8%) มากสุด เฉลี่ยร้อยละ 63.8 เป็นการออกกำลังกายมากสุด รองลงมาการจัดการอารมณ์ความเครียด และการบริโภคอาหารน้อยสุด ร้อยละ 50.4, 18.0 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ ทักษะชีวิตกับการสร้างเสริมสุขภาพสัมพันธ์กันเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ (r=0.349, p<.000) ฉะนั้น จึงควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ทักษะชีวิตในการสร้างเสริมสุขภาพตนเองให้มากขึ้น