Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการประเมินสมรรถนะการวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ภาคใต้ ใช้ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยและพัฒนา (Research and development) แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 ศึกษาองค์ประกอบสมรรถนะการวิจัย ตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ภาคใต้ 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฏร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวน 560 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามสมรรถนะการวิจัยของอาจารย์ สถิติที่ใช้คือ การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory factor analysis) และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับสอง (Secord order confirmatory factor analysis) ขั้นตอนที่ 2 พัฒนารูปแบบการประเมินสมรรถนะ การวิจัย ตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบการประเมิน (Implementation) กับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบทดสอบความรู้การวิจัย แบบประเมินความรู้การวิจัย แบบประเมินทักษะการวิจัย แบบประเมินคุณลักษณะและแรงจูงใจ แบบประเมินข้อเสนอโครงการวิจัย และแบบประเมินคุณภาพผลงานวิจัย ตรวจสอบความตรงเชิงจำแนกของรูปแบบการประเมินด้วยการวิเคราะห์จำแนกกลุ่ม (Discriminant analysis) และขั้นตอนที่ 4 ประเมินรูปแบบการประเมินสมรรถนะการวิจัยตามเกณฑ์การประเมินอภิมานของ Stufflebeam (2001) สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการทดสอบค่าที (t-test one sample) ผลการวิจัยพบว่า โครงสร้างสมรรถนะการวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ภาคใต้ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ความรู้การวิจัย (Knowledge) ทักษะการวิจัย (Research skill) และบุคลิกลักษณะและแรงจูงใจ (Trait and motive) มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีค่าสถิติวัดความกลมกลืนผ่านเกณฑ์ทุกตัว (พิจารณาจากค่า Chi-square=14.85, df=6, p-value=0.02149, RMSEA=0.0514, NFI=0.997, NNFI=0.994, CFI=0.998, GFI=0.992, AGFI=0.965) รูปแบบการประเมินสมรรถนะการวิจัยที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ คือ วัตถุประสงค์การประเมิน สิ่งที่มุ่งประเมิน ตัวบ่งชี้ เกณฑ์การประเมิน ผู้ทำการประเมิน วิธีการประเมิน ระยะเวลาในการประเมิน และการให้ข้อมูลป้อนกลับ รูปแบบมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก ผลการนำรูปแบบไปใช้ในสถานการณ์จริง พบว่า รูปแบบสามารถจำแนกกลุ่มอาจารย์ที่มีประสบการณ์การวิจัยและกลุ่มอาจารย์ที่ไม่มีประสบการณ์การวิจัยได้โดยให้ค่าความถูกต้องในการจำแนกกลุ่มได้ร้อยละ 100 ทั้งนี้ตัวแปรที่สามารถจำแนกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ความรู้การวิจัย สามารถเขียนเป็นสมการดังนี้ แสดงว่า รูปแบบการประเมินมีความตรงเชิงจำแนก และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินของ Stufflebeam อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05