Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ทางถนนของพนักงานขับรถจัดส่งสินค้า เพื่อศึกษาผลของการจัดการด้านความปลอดภัยในการขับขี่เชิงป้องกัน และเพื่อเปรียบเทียบความถี่และความรุนแรงของอุบัติการณ์ทางถนนก่อนและหลังการสร้างการจัดการด้านความปลอดภัยในการขับขี่เชิงป้องกันประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือพนักงานขับรถจัดส่งสินค้า บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี จำนวน 35 คน หากลุ่มตัวอย่างโดยพิจารณาตามคุณสมบัติของการวิจัยและกลุ่มตัวอย่างที่สมัครใจเข้าร่วมการวิจัย ทำการศึกษาระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2560 ดำเนินการสร้างโปรแกรมการจัดการด้านความปลอดภัยในการขับขี่เชิงป้องกันใน 4 ประเด็นได้แก่นโยบายความปลอดภัยในการขับขี่เชิงป้องกัน การสื่อสารด้านความปลอดภัย การตรวจสอบความปลอดภัยและการฝึกอบรม ผลการศึกษา พบว่า หลังการสร้างโปรแกรม ฯ การเกิดอุบัติการณ์ทางถนนลดลงร้อยละ 51.16 ผลการเปรียบเทียบอุบัติการณ์ทางถนนก่อนและหลังการสร้างโปรแกรม ฯ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ (p<0.05) และผลการประเมินการจัดการด้านความปลอดภัยในการขับขี่ เชิงป้องกัน พบว่า ภายหลังการสร้างโปรแกรม ฯ มีคะแนนเฉลี่ยการจัดการด้านความปลอดภัยในการขับขี่เชิงป้องกันอยู่ในระดับที่สูงมากกว่า ก่อนการสร้างโปรแกรม ฯ และผลการเปรียบเทียบการจัดการด้านความปลอดภัยในการขับขี่เชิงป้องกัน พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ (p<0.05) ดังนั้น ควรมีการสร้างการจัดการด้านความปลอดภัยในการขับขี่เชิงป้องกันในบริษัทแห่งนี้ต่อไปเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ทางถนนและควรศึกษาเพิ่มการศึกษาในรูปแบบการบริหารความเสี่ยงหรือความล้าของพนักงานขับรถเพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและอุปสรรคในการทำงานซึ่งจะสามารถนำมาใช้ควบคุมป้องกันอุบัติการณ์ได้อย่างเป็นระบบต่อไป