Abstract:
ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ถ้าเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยงมานานจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคเบาหวานได้ และจะมีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต จึงต้องป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงต้องการหาความสัมพันธ์ระหว่าง พฤติกรรมตามแผนกับพฤติกรรมการป้องกันการเป็นโรคเบาหวานของประชาชนกลุ่มเสี่ยงกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชน 203 คน ซึ่งสุ่มมาจากบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ปี 2559 ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ข้อมูลเก็บด้วยการส่งแบบสอบถามให้ตอบที่บ้าน และวิเคราะห์ด้วยร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษา พบว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงส่วนมาก (64.5%) เป็นผู้หญิง อายุเฉลี่ย 49.2 ± 9.3 ปี จบการศึกษาสูงสุด (60.1%) ประถมศึกษาจำนวนมาก (49.3%) เป็นเกษตรกร บิดามารดา ญาติพี่น้องเป็นโรคเบาหวาน (37.4%) ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมตามแผนเฉลี่ยร้อยละ70.0 มีเจตคติที่ดีต่อการป้องกันโรคเบาหวานเฉลี่ยร้อยละ 69.6 มีการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงเฉลี่ยร้อยละ 71.2 และรับรู้ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมป้องกันโรคเบาหวานเฉลี่ยร้อยละ 69.2 มีพฤติกรรมการป้องกันการเป็นโรคเบาหวานโดยรวมเฉลี่ยร้อยละ77.9 การลด ละ เลิกบริโภค อาหารหวานเฉลี่ยร้อยละ 82.1 มีการออกกำลังกายต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 68.7 มีการจัดการอารมณ์ เฉลี่ยร้อยละ 78.9 พฤติกรรมตามแผนเจตคติต่อการป้องกัน การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงและการรับรู้ ความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมกับพฤติกรรมการป้องกันการเป็นโรคเบาหวานของประชาชนกลุ่มเสี่ยงสัมพันธ์กันเชิงบวก 0.408, 0.290, 0.323 และ 0.401 (p < .001) ตามลำดับ ฉะนั้น จึงควรส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมตามแผนทั้งเจตคติการคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงและการรับรู้ความสามารถในการป้องกันโรคเบาหวาน เพื่อลดผู้ป่วยโรคเบาหวานให้น้อยลง