Abstract:
คุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ใช้น้ำหากตู้น้ำและน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ปลอดภัยมีสิ่งปนเปื้อนจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนผู้ใช้ได้จึงต้องมีการดูแลควบคุมให้ปลอดภัยมีมาตรฐาน ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงต้องการศึกษาคุณภาพน้ำดื่มของตู้น้ำหยอดเหรียญและการรับรู้ความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้น้ำ กลุ่มตัวอย่างเป็นตู้น้ำหยอดเหรียญ 54 ตู้และประชาชน 162 คน ที่ใช้น้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญตู้ละ 3 คน ข้อมูลสภาพตู้น้ำดื่มและการปนเปื้อนแบคทีเรียประเมินตามชุดทดสอบ อ 11 และชุดทดสอบ SI-2 ข้อมูลการรับรู้ความปลอดภัยเก็บด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างและวิเคราะห์ด้วยร้อยละค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่าตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 10 ตู้ (18.5%) พบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียบริเวณ หัวจ่ายน้ำ และ 14 ตู้ (25.9%) พบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียจากน้ำดื่ม สภาพแวดล้อมของตู้น้ำหยอดเหรียญมีสภาพไม่ปลอดภัย ส่วนมาก 48 ตู้ (88.9%) เป็นสภาพที่ตั้งที่ไม่ปลอดภัย และ 44 ตู้ (81.1%) สภาพลักษณะความปลอดภัยของตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่ปลอดภัยในระดับน้อย ส่วนมาก 51 ตู้ (94.4%) เป็นสภาพแหล่งน้ำและการปรับปรุงคุณภาพที่ไม่ปลอดภัยในระดับน้อยส่วนมาก 32 ตู้ (59.2%) เป็นสภาพการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดที่ไม่ปลอดภัยในระดับมาก ทุกตู้ไม่มีการควบคุมมาตรฐานน้ำบริโภคซึ่งทุกตู้มีความแข็งแรงทนทาน การรับรู้ความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้น้ำ พบว่า ทุกตู้ไม่พบร่องรอยการทำความสะอาดและเปลี่ยนไส้กรองเฉลี่ย 36 ตู้ (66.7%) พบฝาปิดช่องรับน้ำชำรุดหรือเปิดรองลงมาพบคราบตะไคร่น้ำและคราบฝุ่นที่ช่องจ่ายน้ำพบคราบตะไคร่น้ำและคราบสนิมที่หัวจ่าย พบสิ่งเจือปนน้ำและพบเห็นรอยสนิมและรอยรั่วซึมบนตู้น้ำเฉลี่ย 13 ตู้ (24.1%), 4 ตู้ (7.4%), 4 ตู้ (7.4%), และเฉลี่ย 2 ตู้ (3.7%) ตามลำดับ เมื่อหาความสัมพันธ์พบว่าการพบเห็นคราบตะไคร่น้ำและคราบฝุ่นที่ช่องจ่ายน้ำกับการปนเปื้อน เชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียของน้ำดื่มมีความสัมพันธ์กันเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้มีการควบคุมคุณภาพน้ำดื่มให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการดูแลรักษาให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอยู่ในสภาพที่สะอาดและปลอดภัยเสมอ