Abstract:
การวิจัยพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ พัฒนาแบบจำลองสมการโครงสร้างความรุนแรงของอุบัติเหตุจราจร และหาแนวทางการลดความรุนแรงของอุบัติเหตุจราจรที่มีสาเหตุมาจากความบกพร่องและพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในเขตอุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่น้อยกว่า 3 ปี ในเขตอุตสาหกรรม ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 580 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบสอบถามที่ผ่านการวิเคราะห์คุณภาพมีค่าความเชื่อมั่นมากกว่า .7 การประชุมกลุ่มเฉพาะ การสัมภาษณ์เชิงลึก และการยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญด้วยเทคนิคเดลฟาย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติแจกแจงความถี่ ร้อยละการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ การวิเคราะห์สมการโครงสร้าง อัตราส่วนออดส์ การถดถอยโลจิสติค มัธยฐาน และพิสัยควอไทล์ ผลการวิจัย พบว่า จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบพบ ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุ คือ การไม่สวมหมวกนิรภัย (OR=10.65, 95% CI: 2.14-52.97) และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (OR=3.23,95% CI: 1.77-5.89) แบบจำลองสมการโครงสร้างของอุบัติเหตุจราจร พบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างความบกพร่องของผู้ขับขี่ พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย และความรุนแรงของอุบัติเหตุจราจรที่สอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และสามารถพยากรณ์ได้ร้อยละ 81 ผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุจราจรเรียงจากมากไปน้อย คือ การไม่สวมหมวกนิรภัย การขับตามหลังรถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด การขับขี่ย้อนทางเดินรถ การขับขี่รถตัดหน้ากระชั้นชิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการไม่มีความรู้เรื่อง กฏจราจร (ORAdj= 6.47, 4.30, 4.16, 4.14, 2.89 และ 1.57 ตามลำดับ) การขับขี่รถจักรยานยนต์ควรมีมาตรการเฉพาะในการเพิ่มการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง ไม่ขับตามหลังรถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด หรือขับขี่ย้อนทางเดินรถ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อขี่รถจักรยานยนต์และการเสริมความรู้เรื่องกฏจราจรให้กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ครอบครัว/ เพื่อนร่วมงาน สังคมและหน่วยงาน ประกอบด้วย ขนส่ง ตำรวจจราจร กลุ่มอาสาสมัคร มูลนิธิกู้ภัย แขวงการทาง ทางหลวง ชุมชน เทศบาล สถานประกอบการ หน่วยงานทางการศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบนโยบาย โดยมีแนวทางทั้ง ก่อนการขับขี่ ระหว่างขับขี่ และหลังการขับขี่หรือการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน