Abstract:
การวิจัยพัฒนานี้เพื่อพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะนักสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมรับสาธารณภัยจากน้ำท่วม ดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ 1) วิเคราะห์สถานการณ์โดยการถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำท่วม หลักสูตรที่มีในปัจจุบัน 2) สำรวจสมรรถนะนักสาธารณสุขจากนักสาธารณสุขที่สุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิตามสัดส่วนทั้ง 4 ภูมิภาค 189 คน สร้างแนวทางจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญ และ 3) ประเมินแนวทางด้วยการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญด้วยเทคนิคเดลฟาย วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสำรวจ สกัดองค์ประกอบด้วยวิธีองค์ประกอบหลัก หมุนแกนองค์ประกอบแบบออโธโกนอลด้วยวิธีแวริแมกซ์ วิเคราะห์การถดถอย วิเคราะห์เนื้อหา ค่ามัธยฐาน และพิสัยควอไทล์ ผลการวิจัยพบว่า สมรรถนะเดิมของนักสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมรับสาธารณภัยจากน้ำท่วมอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ มากกว่าร้อยละ 80 และพบมีเนื้อหาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในสถาบันการศึกษาน้อย วิเคราะห์องค์ประกอบสมรรถนะแล้วพบ 6 องค์ประกอบ มีตัวแปรทั้งหมด 50 ตัวแปร ดังนี้ องค์ประกอบที่ 1) การจัดระบบงานสาธารณสุข ดูแล ช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัย 2) การประสานงาน การสื่อสาร การจัดการเหตุการณ์เฉพาะหน้า 3) การวางแผนเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรและชุมชน 4) การประเมินสถานการณ์และการระบุแนวทางแก้ไข 5) การบริหารความเสี่ยงและปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม 6) การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ มีตัวแปรที่บรรยายองค์ประกอบ 12, 12, 8, 6, 7 และ 5 ตัวแปร ตามลำดับ โดยมีค่าน้ำหนักองค์ประกอบ >.5 ทุกตัวแปรยกเว้นตัวแปร 2 ตัวในองค์ประกอบที่ 5 และ 6 และพบว่าประสบการณ์ในการซ้อมแผนปฏิบัติการพร้อมรับสาธารณภัยกรณีน้ำท่วม และประสบการณ์การทำงานด้านการฟื้นฟูเยียวยา เป็นปัจจัยที่ทำนายสมรรถนะโดยรวม (R20.555) แนวทางการเสริมสร้างสมรรถนะนักสาธารณสุข สามารถดำเนินการโดยสถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวนักสาธารณสุขเอง มีวิธีการที่สำคัญคือการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฝึกซ้อมแผน การอบรมควบคู่กับการทำงาน การประชุมสัมมนาทางวิชาการ การมอบหมายเรียนรู้การทำงานตามโครงสร้างภาระงาน การหมุนเวียนงาน การจัดการความรู้ การศึกษาด้วยตนเองและการศึกษาดูงาน (IQR ไม่เกิน 1.5) ดังนั้น สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักสาธารณสุข หากร่วมกันกับพหุภาคีดำเนินการพัฒนาความสามารถและสมรรถนะให้กับนักสาธารณสุข โดยเน้นจัดให้เกิดประสบการณ์ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมั่นใจเมื่อเกิดเหตุการณ์สาธารณภัยน้ำท่วมจะเกิดประโยชน์กับส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น