Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันของผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง จังหวัดชลบุรี เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง จำนวน 383 คน ได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน โดยแบ่งตามขนาดอำเภอจากผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ และปัจจัยเสริม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและทดสอบค่าไคสแควร์ (Chi-Square Test) ผลการศึกษาพบว่า พบว่าปัจจัยส่วนบุคคลด้านการมีผู้ช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพ, การเข้าถึงบริการในระบบสุขภาพ และการมีกำลังใจและการให้คำแนะนำกระตุ้นเตือนการปฏิบัติตนในการดูแลสุขภาพของกลุ่มตัวอย่างมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.042 ,0.014 และ0.047 ตามลำดับ) ส่วนปัจจัยความแตกต่างด้านเพศ, อายุ, การศึกษา, สถานภาพสมรส และการอยู่กับบุคคลในครอบครัว ไม่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังพบว่าปัจจัยด้านความรู้ กลุ่มตัวอย่างไม่ทราบวิธีสังเกตอาการไม่ทราบสาเหตุของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ไม่ทราบวิธีปฏิบัติหากอยู่คนเดียวในขณะเกิดอาการเจ็บหน้าอกและไม่ทราบสิ่งที่ไม่ใช่ ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คิดเป็นร้อยละ 49.3, 42.3, 41.5 และ 41.0 ตามลำดับ การศึกษาครั้งนี้ เสนอแนะควรมีการให้ความรู้และพัฒนารูปแบบการฝึกทักษะการป้องกัน การเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และครอบครัว หรือผู้ดูแล ให้ครอบคลุม การสังเกตอาการเตือน สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีการช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ รวมทั้งควรส่งเสริม สนับสนุนให้มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมของแรงสนับสนุนทางสังคม ในการให้กำลังใจ สื่อสารข้อมูลการปฏิบัติตนด้านสุขภาพที่เหมาะสม ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ทีมบุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มอาสามัครสาธารณสุขที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมในวงกว้าง