Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวางมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของผู้บริหารสถานประกอบกิจการขนาดย่อม (มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน) ในจังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหารสถานประกอบกิจการขนาดย่อม จำนวน 385 คน ซึ่งใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบโควต้า เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้วยวิธีครอนบาค แอลฟา ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .80 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ผลการวิจัย พบว่า ผู้บริหารสถานประกอบกิจการขนาดย่อมส่วนใหญ่ (ร้อยละ 36.9) มีความรู้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอยู่ในระดับปานกลาง และทดสอบความสัมพันธ์ พบว่า 1) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ รายได้ ระดับการศึกษา และอายุงานในสถานประกอบกิจการ 2) ปัจจัยประเภทการผลิต 3) ปัจจัยขนาดสถานประกอบกิจการ 4) ปัจจัยระยะเวลาการประกอบกิจการ 5) ปัจจัยการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงาน ได้แก่ การฝึกอบรมหลักสูตร จป.บริหาร จป.หัวหน้างาน คณะกรรมการความปลอดภัยฯ (คปอ.) การเข้าอบรมสัมมนา/ หรือชี้แจงกฎระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัยในการทำงานโดยกระทรวงแรงงาน และการเข้าร่วมกิจกรรมสัปดาห์ความปลอดภัยแห่งชาติ 6) ปัจจัยการได้รับข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ การได้รับข้อมูลข่าวสารหรือสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐ การได้รับเอกสารเชิญเข้าอบรมหรือสัมมนาด้านความปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การเข้าให้คำปรึกษาโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ การได้รับข้อมูลข่าวสารจากวารสาร/ แผ่นพับ/ โปสเตอร์ และ 7) ปัจจัยทัศนคติความปลอดภัยในการทำงาน มีความสัมพันธ์กับความรู้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของผู้บริหารสถานประกอบกิจการขนาดย่อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนการฝึกอบรมหลักสูตร กฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน มีความสัมพันธ์กับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ .05 ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรู้กฎหมายความปลอดภัยดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ที่มีความเหมาะสม รวมถึงการเข้าให้คำปรึกษาหรือชี้แจงการปฏิบัติตามกฎหมายโดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการขนาดย่อมต่อไป