Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง สภาพการปฏิบัติงาน นโยบายของหน่วยงานในการป้องกันและจัดการความรุนแรงในสถานที่ทำงาน และการสนับสนุนทางสังคม กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงในสถานที่ทำงานของพยาบาลในโรงพยาบาลชุมชน กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนของจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 168 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นพยาบาลหญิง ร้อยละ 97.0 อยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 20-30 ปี ร้อยละ 33.9 อายุเฉลี่ย 37.2 ปี ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานอยู่ระหว่าง 1-5 ปี ร้อยละ 30.4 ปฏิบัติงานอยู่แผนกผู้ป่วยใน ร้อยละ 42.3 ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการอบรมเกี่ยวกับการจัดการความรุนแรง ร้อยละ 76.8 และความรุนแรงที่ได้รับส่วนใหญ่มาจากญาติผู้ป่วย ร้อยละ 85.1 ระดับความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรงในสถานที่ทำงานจากสภาพการปฏิบัติงาน ของกลุ่มตัวอย่าง นโยบายของหน่วยงานในการป้องกันและจัดการความรุนแรงในสถานที่ทำงาน และการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 64.9 ร้อยละ 54.8 และร้อยละ 51.8 ตามลำดับ ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ แผนก ประวัติการได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการจัดการความรุนแรง และขนาดของโรงพยาบาลที่ปฏิบัติงาน ไม่มีความสัมพันธ์กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงต่อร่างกาย ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ และทัศนคติ แต่พบว่า ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน แหล่งของความรุนแรงที่ได้รับจากผู้ป่วย และผู้บังคับบัญชา มีความสัมพันธ์กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงต่อร่างกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p = 0.045) (p = 0.037) และ (p = 0.013) ตามลำดับ รวมทั้งมีระยะเวลาในการปฏิบัติงานต่อวัน และระยะเวลาในการปฏิบัติงานล่วงเวลาต่อสัปดาห์มีความสัมพันธ์กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงต่อร่างกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (p = 0.005) และ (p = 0.001) ตามลำดับระยะเวลาในการปฏิบัติงานล่วงเวลาต่อวันมีความสัมพันธ์กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงต่อร่างกายอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (p =0.046) สภาพการปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงต่อร่างกาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (p = 0.001) และมีความสัมพันธ์กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงต่อความรู้สึกต่อเหตุการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (p < 0.001) นโยบายของหน่วยงานในการป้องกันและจัดการความรุนแรงในสถานที่ทำงานและการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงต่อความรู้สึกต่อเหตุการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (p = 0.002) และ (p = 0.001) ตามลำดับ และมีความสัมพันธ์กับผลของการถูกกระทำความรุนแรงต่อทัศนคติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 (p < 0.001) ผลการศึกษาครั้งนี้ ผู้บริหารของโรงพยาบาลและผู้ปฏิบัติงานควรนำไปกำหนดเป็นนโยบาย และกิจกรรมในการป้องกันและจัดการความรุนแรงในสถานที่ทำงานร่วมกันในทุกแผนกของโรงพยาบาล เพื่อลดความรุนแรงของผลของการถูกกระทำความรุนแรง โดยมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนสภาพการปฏิบัติการ การกำหนดนโยบายในการป้องกันและจัดการความรุนแรง และการให้การสนับสนุนทางสังคมแก่ผู้ปฏิบัติงาน