Abstract:
การวิจัยเรื่อง รูปแบบการใช้กฎหมายของบุคลากรมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการใช้กฎหมายของบุคลากร มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเพื่อศึกษารูปแบบการใช้กฎหมายที่พึงประสงค์ของบุคลากรมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีวิจัยเทคนิคเดลฟายและการสัมภาษณ์เชิงลึก ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเลือกเฉพาะเจาะจงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จำนวน 20 คน และกลุ่มตัวอย่างในการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 6 คน เลือกเฉพาะเจาะจงที่ฟ้องหรือกำลังฟ้องคดีกับมหาวิทยาลัยในกำกับผลการวิจัยพบว่า เมื่อบุคลากรของรัฐด้านอาจารย์และพนักงานฝ่ายสนับสนุน เมื่อมีปัญหากับคณะผู้บริหาร และต้องการใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีรูปแบบการใช้ 5 รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบที่ 1 ร้องคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์ของมหาวิทยาลัยแล้วยื่นฟ้องศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม (คดีแพ่ง, คดีอาญา) รูปแบบที่ 2 ร้องทุกข์ต่อตำรวจท้องที่หรือตำรวจกองปราบปรามแล้วส่งคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเพื่อฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือศาลยุติธรรมหรือศาล ปกครอง รูปแบบที่ 3 ร้องศูนย์ดำรงธรรมหรือร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้วส่งฟ้องศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมหรือศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รูปแบบที่ 4 ร้องคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา,ร้องคณะกรรมการการอุดมศึกษา,ร้องกระทรวงศึกษาธิการ, ฟ้องศาลปกครอง รูปแบบที่ 5 สำนักงานคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานอัยการ (พิเศษ) ฝ่ายคดีปกครองดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อนการฟ้องคดี (กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์)