Abstract:
อารมณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิต เช่น อารมณ์เศร้า เสียใจ หรือมีความสุข แตกต่างกันไปตามปัจจัยภายนอกหรือภายใน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บุคลิกภาพ และความแตกต่างระหว่างเพศ เป็นต้น การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง เพศ และบุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบกับการรับรู้อารมณ์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี บุคลิกภาพ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ บุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ บุคลิกภาพแบบมีจิตสำนึก บุคลิกภาพแบบประนีประนอม บุคลิกภาพแบบแสดงตัว และบุคลิกภาพแบบหวั่นไหว การรับรู้อารมณ์ ประกอบด้วย ด้านความประทับใจ ด้านการตื่นตัว และด้านการมีอิทธิพล กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2559 จำนวน 180 คน ได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นมาตรวัดบุคลิกภาพ ชุดของรูปภาพที่สื่อความหมายทางด้านอารมณ์ ความรู้สึกในบริบทคนไทย และมาตรวัดอารมณ์ความรู้สึก SAM Thai วิเคราะห์ข้อมูลด้วย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัย ปรากฏดังนี้ 1. นักศึกษาระดับปริญญาตรี จำแนกตามเพศ และกลุ่มสาขาวิชา ปรากฏว่ามีความ แตกต่างกันเฉพาะบุคลิกภาพแบบประนีประนอม ส่วนบุคลิกภาพแบบเปิดรับประสบการณ์ บุคลิกภาพแบบมีจิตสำนึก บุคลิกภาพแบบแสดงตัวและบุคลิกภาพแบบหวั่นไหวไม่แตกต่างกัน 2. ความแตกต่างระหว่างเพศและบุคลิกภาพมีผลต่อการรับรู้อารมณ์ที่แตกต่างกัน ดังนี้ 2.1 เพศ และบุคลิกภาพแบบแสดงตัวมีผลต่อการรับรู้อารมณ์ด้านความประทับใจ 2.2 เพศ บุคลิกภาพแบบแสดงตัว และบุคลิกภาพแบบมีจิตสำนึกมีผลต่อการรับรู้ อารมณ์ด้านการตื่นตัว 2.3 เพศมีผลต่อการรับรู้อารมณ์ด้านการมีอิทธิพล