Abstract:
จากการศึกษาความหลากหลายทางชนิดของแพลงก์ตอนทะเลบริเวณหาดนางรอง เกาะจระเข้ เกาะจวง เกาะจาน และเกาะโรงโขนโรงหนัง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 พบแพลงก์ตอนพืชทะเลทั้งสิ้น 91 สกุล ไม่น้อยกว่า 206 ชนิด ไดอะตอมมีความหลากหลายชนิดสูงสุดอยู่ในอันดับ Biddulphiales วงศ์ Chaetoceraceae 2 สกุล 33 ชนิด รองลงมาคือ วงศ์ Rhizosoleniaceae 5 สกุล 20 ชนิด และไดโนแฟลเจลเลทที่มีความหลากหลายชนิดสูงสุดอยู่ในอันดับ Gonyaulacales วงศ์ Ceratiaceae 1 สกุล 17 ชนิด สำหรับสกุลที่มีความหลากหลายชนิดสูง คือ Chaetoceros, Ceratium และ Rhizosolenia เท่ากับ 27, 17 และ 12 ตามลำดับ พบแพลงก์ตอนสัตว์ทั้งสิ้น 41 สกุล ไม่น้อยกว่า 68 ชนิด นอกจากนี้ยังพบระยะวัยอ่อนของแพลงก์ตอนสัตว์ซึ่งรวมถึงระยะวัยอ่อนของสัตว์ทะเลที่ดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนและที่ไม่สามารถจำแนกชนิดได้รวม 28 กลุ่ม ไฟลั่มอาร์โธรโพดาเป็นไฟลั่มที่พบจำนวนชนิดมากที่สุด พบ 22 สกุล ไม่น้อยกว่า 44 ชนิด รองลงมาคือ โปรโตซัว 9 สกุล ไม่น้อยกว่า 14 ชนิด และไนดาเรีย 3 สกุล ไม่น้อยกว่า 3 ชนิด ตามลำดับ
จากการศึกษาปริมาณความชุกชุมของแพลงก์ตอนทะเลบริเวณหาดนางรอง เกาะจระเข้ และกลุ่มเกาะจวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยในปีแรกของการศึกษาระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2551 พบปริมาณแพลงก์ตตอนพืชทะเลรวม มีค่าอยู่ระหว่าง 10,154-137,890 หน่วยต่อลิตร และความชุกชุมของแพลงก์ตอนสัตว์ทะเลรวมมีค่าอยู่ระหว่าง 18,478-174,409 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร ในปีที่ 2 ของการศึกษาระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 พบปริมาณแพลงก์ตอนพืชทะเลรวมมีค่าอยู่ระหว่าง 5,676-137,279 หน่วยต่อลิตร และความชุกชุมของแพลงก์ตออนสัตว์ทะเลรวมมีค่าอยู่ระหว่าง 29,868-99,316 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร และในปีที่ 3 ของการศึกษา ในระหว่างเดือนมากราคม พ.ศ. 2553 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พบปริมาณแพลงก์ตอนพืชทะเลรวมมีค่าอยู่ระหว่าง 6,649-139,135 หน่วยตอลิตร และความชุกชุมของแพลงก์ตอนสัตว์ทะเลมีค่าอยู่ระหว่าง 18,559-86,398 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร
สำหรับแพลงก์ตอนทะเลที่พบส่วนใหญ่เป็นชนิดที่พบมีการแพร่กระจายทั่วไปในเขตร้อนและเคยมีรายงานการพบในอ่าวไทยมาก่อนหน้านี้ และจากข้อมูลความหลากหลายทางชนิดของแพลงก์ตอนทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลหาดนางรอง และเกาะจระเข้ ในการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมของพื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการที่พื้นที่ศึกษาดังกล่าวนี้อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพเรือ จึงไม่ได้รับการรบกวนจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ไม่มีการทำการประมง และใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว เป็นต้น จึงส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรแพลงก์ตอนสัตว์ทะเลซึ่งรวมถึงสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่น ๆ ด้วย