Abstract:
ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่มากมายหลายฉบับ รวมทั้งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับการดํารงชีวิตประจําวันของประชาชนแต่แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีบทบัญญัติเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวประชาชนและได้นํามาตรการเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้โดยกําหนดให้ผู้ที่พบเห็นการกระทําความผิดเป็นผู้เสียหาย รวมทั้งกําหนดให้มีมาตรการจูงใจเรื่อง การแบ่งค่าปรับส่วนหนึ่งให้กับผู้แจ้งการกระทําความผิดก็ตาม แต่ประชาชนก็มิได้ให้ความสนใจและให้ความสําคัญในเรื่องดังกล่าว จึงทําให้การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีประสิทธิภาพ จากการศึกษาพบว่า พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีบทบัญญัติที่มีความเกี่ยวข้องกับการดํารงชีวิตประจําวันของประชาชนมากจนเกินไป รวมถึงเรื่องที่ประชาชนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่นการกําหนดให้การปล่อยต้นไม้รกรุงรัง ในที่ดินของตนเองเป็นความผิดหรือการกําหนดให้เจ้าของอาคารบ้านเรือนต้องดูแลให้ถนนหน้าบ้านของตนสะอาด มิฉะนั้นจะมีความผิดเป็นต้น จึงทําให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีการบังคับใช้กันอย่างจริงจัง เท่าที่ควรแม้ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์ในการรักษาสภาพแวดล้อมอันเป็นการส่งเสริมให้การดํารงชีวิตประจําวันของประชาชนในสังคมมีมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็ตาม สาเหตุสําคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งผลให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจในการบังคับใช้กฎหมายก็คือพระราชบัญญัตินี้มีบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนเพียงโทษปรับเล็กน้อยเท่านั้นโดยไม่มีโทษจําคุก จึงซึ่งทําให้ประชาชนไม่มีความเกรงกลัวที่จะกระทําฝ่าฝืนบทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับนี้สําหรับในส่วนของภาครัฐ จากการศึกษาพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอํานาจบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวส่วนมากก็ยังเพิกเฉยต่อการใช้อํานาจที่มีซึ่งส่งผลให้เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไปโดยปริยาย และเมื่อประชาชน ดํารงชีวิตประจําวันไปโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฉบับนี้จนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม ก็ยิ่งส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้สิ้นสภาพบังคับใช้ไปในที่สุด