Abstract:
การวิจัยเชิงทำนายนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการออกกำลังกายและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ การรับรู้สมรรถนะของตนเอง การสนับสนุนจากครอบครัว ภาวะซึมเศร้า ความรุนแรงของโรค การรับรู้ความเจ็บป่วยและระยะเวลาหลังการขยายหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มาติดตามผลการรักษาในคลินิกโรคหัวใจ โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 145 ราย ซึ่งคัดเลือกโดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามพฤติกรรมการออกกำลังกาย แบบสอบถามการรับรู้ความสามารถของตนเองในการออกกำลังกาย แบบสอบถามการรับรู้ความเจ็บป่วย แบบประเมินภาวะซึมเศร้าและแบบสอบถามการสนับสนุนจากครอบครัว วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและวิเคราะห์สถิติถดถอยเชิงพหุแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมออกกำลังกายโดยรวมอยู่ในระดับสูง (M = 40.4, SD = 14.83) การสนับสนุนจากครอบครัวและการรับรู้สมรรถนะของตนเองร่วมกันทำนายพฤติกรรมการออกกำลังกายได้ร้อยละ 34 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ตัวแปรที่ทำนายได้มากที่สุด คือ การสนับสนุนจากครอบครัว (β = .400, p<.001) รองลงมา คือ การรับรู้สมรรถนะของตนเอง (β = .312, p < .001) ผลการศึกษานี้ เสนอแนะว่าการส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหลังได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจ ควรมุ่งเน้นการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะของตนเองและการสนับสนุนจากครอบครัว