Abstract:
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีการปฏิบัติพฤติกรรมควบคุมความดันโลหิตไม่เหมาะสม จะทำให้ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ ส่งผลให้โรคมีความรุนแรงขึ้นและมีการทำลายอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ไต และตา การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของพฤติกรรมควบคุมความดันโลหิต จำแนกตาม เพศ อายุ ดัชนีมวลกาย ความเชื่อด้านสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพของครอบครัว และความไว้วางใจในบริการสุขภาพในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ และครอบครัว จำนวน 310 คู่ ที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือ รวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป และแบบสอบถามเกี่ยวกับความเชื่อด้านสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพของครอบครัว ความไว้วางใจในบริการด้านสุขภาพ และพฤติกรรมการควบคุมความดันโลหิตสูง วิเคราะห์ข้อมูลด้วย Independent t-test และ One-way ANOVA ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีเพศแตกต่างกันมีพฤติกรรมการรับประทานอาหาร แตกต่างกัน (t 308= -2.09, p= .04) กลุ่มที่มีดัชนีมวลกายแตกต่างกันและกลุ่มที่มีความไว้วางใจ ในบริการสุขภาพแตกต่างกันมีพฤติกรรมการออกกำลังกายแตกต่างกัน (ดัชนีมวลกาย: t 308= 2.08, p= .04; ความไว้วางใจในบริการสุขภาพ: t 307.97= 2.01,p= .04) การควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ในกลุ่มความเชื่อสุขภาพด้านการรับรู้ประโยชน์ของการรักษาและป้องกันโรค และการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนที่แตกต่างกัน .05 (F2, 307= 3.82, p = .02) และ (F2, 307= 3.34, p = .04) ตามลำดับ แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของพฤติกรรมการควบคุมความดันโลหิต เมื่อจำแนก ตาม อายุ ความเชื่อสุขภาพด้านการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค การรับรู้ความรุนแรงของโรค และพฤติกรรมสุขภาพของครอบครัว ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พยาบาลและบุคลากรในทีมสุขภาพควรบูรณาการปัจจัย ที่มีความสำคัญต่อการควบคุมความดันโลหิต ได้แก่ เพศ ดัชนีมวลกาย ความเชื่อด้านสุขภาพ และความไว้วางใจในบริการด้านสุขภาพ ไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงให้สามารถควบคุมความดันโลหิตได้