Abstract:
พฤติกรรมบริโภคอาหารที่ถูกต้องภายหลังตัดถุงน้ำดีจะช่วยลดโอกาสเกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนภายหลังตัดถุงน้ำดีได้การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอายุ เพศ การรับรู้ความเจ็บป่วย อาการภายหลังตัดถุงน้ำดีและความรู้เรื่องอาหารเฉพาะโรคกับพฤติกรรมบริโภค ภายหลังตัดถุงน้ำดีกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบที่ได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้องหรือผ่าตัดทางหน้าท้อง ซึ่งเข้ารับการรักษา ณ แผนกศัลยกรรมในโรงพยาบาลชลบุรี และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จำนวน 82 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดและสุ่มตัวอย่าง โดยใชวิธีการกำหนด ระยะเวลาเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2559 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมลู ส่วนบุคคลแบบสอบถามการรับรู้ความเจ็บป่วยแบบสัมภาษณ์อาการภายหลังตัดถุงน้ำดี แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมบริโภคภายหลังตัดถุงน้ำดีที่มีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ .91, .79 และ .79 ตามลำดับ และแบบสัมภาษณ์ความรู้เรื่องอาหารเฉพาะโรคที่มีค่า KR-20 เท่ากับ .78 วิเคราะห์ข้อมูล ด้วยสถิติพรรณนา สถิติสัม ประสิทธิ์สหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียลและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง ร้อยละ 75.6 มีอายุเฉลี่ย 42.79 ปี (SD = 12.43) ร้อยละ 76.8 มีอาการภายหลังตัดถุงน้ำดีมีการรับรู้การรบกวนการดำเนินชีวิตประวันของอาการภายหลังตัดถุงน้ำดี โดยรวมในระดับน้อย (M = 2.91, SD = 0.17) มีการรับรู้ความเจ็บป่วยด้านลบในระดับปานกลาง (M = 91.3, SD = 14.90) มีความรู้เรื่องอาหารเฉพาะโรคอยู่ในระดับสูง (M = 14.09, SD = 1.9) และมีพฤติกรรมบริโภค ภายหลังตัดถุงน้ำดีในระดับดี (M = 47.72, SD = 9.1) ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่า อายุ เพศ และความรู้ เรื่องอาหารเฉพาะโรคมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลางกับพฤติกรรมบริโภคภายหลังตัดถุงน้ำดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r= .43, rrb = .34 และ r= .41 ตามลำดับ) การรับรู้ความเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับต่ำกับพฤติกรรมบริโภคภายหลังตัดถุงน้ำดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r= .27) ส่วนอาการภายหลังตัดถุงน้ำดีมีความสัมพันธ์ทางลบระดับสูงกับพฤติกรรมบริโภคภายหลังตัดถุงน้ำดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r= -.6) ผลจากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำ ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ที่ได้รับการตัดถุงน้ำดี เพื่อลดผลกระทบของอาการภายหลังตัดถุงน้ำดี โดยพยาบาลควรมีการติดตามอาการภายหลังตัดถุงน้ำดีและพฤติกรรมบริโภคภายหลังตัดถุงน้ำดี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมบริโภคที่เหมาะสมนำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี