Abstract:
การสูบบุหรี่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นยังเป็นปัญหาที่สำคัญของสังคมไทย เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและเริ่มต้นสูบที่อายุลดลง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของการสูบบุหรี่ ต้นทุนชีวิตและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ในระยะแรกของนักเรียนชายชั้นประถมศึกษาตอนปลายกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือ นักเรียนชายชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนทั้งหมด 390 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติ Binary logistic regression ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความชุกของการสูบบุหรี่ในระยะแรกร้อยละ 43.0 สำหรับต้นทุนชีวิตซึ่งประกอบด้วยพลัง 5 ด้าน ได้แก่ พลังตัวตน พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา พลังเพื่อนและกิจกรรม และพลังชุมชน กลุ่มตัวอย่างมีต้นทุนชีวิตในภาพรวมอยู่ในระดับดี (ร้อยละ 73.5) เมื่อพิจารณาต้นทุนชีวิตตามพลังด้านต่าง ๆ ทั้ง 5 ด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีต้นทุนชีวิต ด้านพลังครอบครัวและพลังตัวตนอยู่ในระดับดีมาก (ร้อยละ 84.5 และร้อยละ 83.3 ตามลำดับ) พลังเพื่อนและกิจกรรมอยู่ในระดับดี (ร้อยละ72.5) พลังชุมชนอยู่ในระดับปานกลาง (ร้อยละ 68.9) และพลังสร้างปัญญาอยู่ในระดับไม่ผ่านเกณฑ์ (ร้อยละ 58.1) และพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ในระยะแรกอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ ได้แก่ การสูบบุหรี่ของบุคคลใกล้ชิด (AOR = 3.37, 95% CI = 1.09-10.44) การเข้าถึงบุหรี่ (AOR = 2.86, 95% CI =1.75-4.68) ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ (AOR = 2.75, 95% CI = 1.09-6.95) การรับรู้ความสามารถของตนเอง ในการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ (AOR = 2.47, 95% CI = 1.52-4.01) พลังครอบครัว (AOR = 1.94, 95% CI = 1.18-3.18) พลังเพื่อนและกิจกรรม (AOR = 1.42, 95% CI = 1.17-1.74) พลังตัวตน (AOR = 1.24, 95% CI = 1.04-1.48) และพลังชุมชน (AOR = 1.15, 95% CI = 1.03-1.30) ผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อพยาบาล บุคลากรสุขภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้องในการหาแนวทางป้องกันการเริ่มต้นสูบบุหรี่ในวัยรุ่นตอนต้นชายต่อไป