Abstract:
กิจกรรมทางกายช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจผู้สูงอายุการมีกิจกรรมทางกาย ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระยะยาวได้ การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับกิจกรรมทางกายและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุในชุมชนตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี กรอบแนวคิดทฤษฎีในการวิจัย คือ Precede-proceed model กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ จำนวน 266 คน ได้จากการสุ่มอย่างมีระบบ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ประกอบด้วยข้อมูลด้านคุณลักษณะส่วนบุคคล และสังคม การรับรู้ประโยชน์ การรับรู้ความสามารถตนเองการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายการได้รับการสนับสนุนทางสังคมและกิจกรรมทางกายวิเคราะห์ ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการทดสอบไคสแควร์ ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายเพียงพอคิดเป็นร้อยละ 57.50 ซึ่งเป็น กิจกรรมจากการทำงานร้อยละ 39.10 และเป็นกิจกรรมยามว่างร้อยละ 30.80 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุได้แก่ อายุ (p< .01) ระดับการศึกษา (p< .01) อาชีพ (p< .01) การรับรู้ประโยชน์ (p< .01) การรับรู้ความสามารถตนเอง (p< .01) และภาวะสุขภาพ (p= .03) จากผลการศึกษานี้พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนควรประเมินและส่งเสริมกิจกรรมทางกายของผู้สูงอายุโดยให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมแก่ผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อให้ผู้สูงอายุรับรู้ประโยชน์ และรับรู้ความสามารถของตนเองเกี่ยวกับกิจกรรมทางกายเกิดความตระหนักและนำไปสู่การทำกิจกรรมทางกายเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี