Abstract:
ถ้าอารมณ์เศร้าหลังคลอดไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจทำให้อาการรุนแรงกลายเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ การศึกษานี้เป็นการวิจจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังทดลอง เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการให้ความรู้และการสนับสนุนของครอบครัวต่ออารมณ์เศร้าในมารดาหลังคลอด กลุ่มตัวอย่าง เป็นมารดาที่มีอารมณ์เศร้าหลังคลอด มีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์คัดเข้าพักฟื้นหลังคลอดในหอผ้ป่วยสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ชลบุรี เลือกกลุ่มตัวอย่าง แบบสะดวกจำนวน 60 ราย โดย 30 รายแรกเป็นกลุ่มควบคุม 30 รายหลัง เป็นกลุ่มทดลองกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติกลุ่มทดลองได้รับทั้งการพยาบาลตามปกติและโปรแกรม เครื่องมือรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของ มารดาหลังคลอดและครอบครัว และอารมณ์เศร้าหลังคลอดของ Kennerley แบบสอบถามอารมณ์ เศร้า มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเป็น .85 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าพิสัยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Fisher exact, chi-square, Mann-Whitney U และ t-test ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยอารมณ์เศร้าหลังคลอดหลังทดลองน้อยกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t 29= -5.87, p< .001) หลังทดลองกลุ่มทดลองมีสัดส่วนของผู้มีอารมณ์เศร้าหลังคลอดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( 2 = -4.34, df= 1, p = .04; กลุ่มทดลอง: n= 9, กลุ่มควบคุม: n= 17) และกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความแตกต่างของคะแนนอารมณ์เศร้าก่อนและหลังทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t 58= -2.57, p= .01)โดยกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยอารมณ์เศร้าหลังคลอดลดลง 15.23 คะแนน (SD = 14.22) ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีคะแนนเฉลี่ยลดลง 6.50 คะแนน (SD = 11.97) จากผลการวิจัย พยาบาลที่ดูแลมารดาหลังคลอดควรคัดกรองหาอารมณ์เศร้าในมารดาหลังคลอด และประยุกต์โปรแกรมการให้ความรู้และสนับสนุนของครอบครัวไปใช้ในมารดาหลังคลอด เพื่อป้องกันหรือลดอารมณ์เศร้าในมารดาหลังคลอด