Abstract:
ข้าราชการครูที่เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านในช่วงการเกษียณอายุราชการจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ และเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะวิกฤต ในชีวิต การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับของความผาสุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความผาสุกในระยะเปลี่ยนผ่านของข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการ กลุ่มตัวอย่างคือ ข้าราชการครู ที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านของการเกษียณอายุราชการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดสระบุรี จำนวน 100 คน ที่ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบสอบถามการรับรู้ภาวะสุขภาพ แบบสอบถามความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง แบบสอบถามทัศนคติต่อการเกษียณอายุราชการ แบบสอบถามการเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุราชการ แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม และแบบประเมินความผาสุกโดยทั่วไป ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ .78, .79, .73, .90, .81 และ .75 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติ สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความผาสุกโดยรวมอยู่ในระดับสูงโดยมีคะแนนเฉลี่ย 83.43 (SD = 11.80) ปัจจัยด้าน ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง (r= .48, p< .01) การสนับสนุนทาง สังคม (r= .44, p< .01) การรับรู้ภาวะสุขภาพ (r= .38, p< .01) การเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุราชการ (r= .36, p< .01) และทัศนคติต่อการเกษียณอายุราชการ (r= .24, p< .05) มีความสัมพันธ์ ทางบวกกับความผาสุกของข้าราชการครูในระยะเปลี่ยนผ่านของการเกษียณอายุราชการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพควรพัฒนาโปรแกรม หรือกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมความผาสุกของข้าราชการครูหลังเกษียณอายุราชการ โดยเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง การสนับสนุนทางสังคม การรับรู้ภาวะสุขภาพ ทัศนคติ ต่อการเกษียณอายุราชการ และมีการส่งเสริมกิจกรรมการเตรียมตัวก่อนเกษียณอายุราชการ