Abstract:
เด็กวัยเรียนเป็นวัยที่สามารถเรียนรู้และดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเองการวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสามารถในการทำนายพฤติกรรมสุขภาพของเด็กวัยเรียน กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่มจากเด็กนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6 ในจังหวัดสิงห์บุรี จำนวน 103 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2559 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม การรับรู้ความสามารถของตนเองการรับรู้ประโยชน์ การรับรู้อุปสรรคอิทธิพลความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและพฤติกรรมสุขภาพของเด็กวัยเรียน มีค่าความเชื่อมั่น .74, .80, .79, .85 และ .72 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า พฤติกรรมสุขภาพของเด็กวัยเรียน มีค่าเฉลี่ยของคะแนนในภาพรวม เท่ากับ 113.40 (SD = 8.04) จัดอยู่ในระดับดีผลการวิเคราะห์ปัจจัยทำนายพฤติกรรมสุขภาพ เด็กวัยเรียน พบว่า การรับรู้ความสามารถของตนเอง สามารถทำนายพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัยเรียนได้ร้อยละ 15 (R 2 = .15, F(1,101) = 17.71, p < .001) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านของพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัยเรียน พบว่า อิทธิพลความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สามารถทำนายพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัย เรียนด้านอนามัยส่วนบุคคลได้ร้อยละ 8 (R 2 = .08, F(1,101) = 8.17, p < .001) การรับรู้ความสามารถของตนเองและการรับรู้อุปสรรคสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัยเรียนด้าน โภชนาการได้ร้อยละ 19 (R 2 = .19, F(1,101)= 7.38, p < .001) การรับรู้ความสามารถของตนเอง สามารถทำนายพฤติกรรมสุขภาพเด็กวัยเรียนด้านกิจกรรมทางกาย/ออกกำลังกายได้ร้อยละ 5 (R 2 = .05, F(1,101)= 5.70, p < .001) ผลการวิจัยครั้งนี้เสนอแนะว่า ในการจัดโปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพ ควรเน้นการส่งเสริมการรับรู้ความสามารถของตนเอง เพื่อให้เด็กวัยเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม