Abstract:
จากการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO (International Civil Aviation Organization) เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของไทยระหว่างวันที่ 19-30 มกราคม พ.ศ. 2558 และได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือและประกาศติด “ธงแดง” ให้กับประเทศไทยทางเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558 รวมถึงการที่องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ประกาศลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัย ด้านการบินพลเรือนของไทยจาก Category 1 เป็น Category 2 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความนิยมต่อสายการบินของไทย และในระยะยาวสามารถ กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยโดยรวม การแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนจึงเป็นสิ่งจําเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบดําเนินการ อย่างไรก็ตาม การดําเนินการที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วน ไม่ยั่งยืน และเป็นไปได้ที่ปัญหา “ธงแดง” อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาแนวทางการปัญหาการบินพลเรือนของไทย อย่างยั่งยืน โดยได้นําแนวคิดการแก้ไขปัญหาและกระบวนการจัดการมาใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์กระบวนการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของไทยอย่างเป็นระบบ การศึกษานี้ใช้เทคนิคการวิจัยเชิงคุณภาพในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ดําเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ที่เกี่ยวข้องและเข้าใจปัญหาการบินพลเรือนของไทยอย่างแท้จริง ได้แก่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม อดีตกรรมการกํากับดูแลสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมการบินพลเรือน อดีตผู้บริหาร ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานของสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน รวมทั้งสิ้น 10 คน ข้อมูลที่ได้ถูกนํามาวิเคราะห์หาสาเหตุรากของปัญหา (Root cause analysis) โดยใช้ผังก้างปลา (Ishigawa’s fishbone diagram) ในการระบุสาเหตุรากของปัญหา และการวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap analysis) ในการหาช่องว่างการแก้ไขปัญหา เพื่อนํามาวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน อย่างยั่งยืนต่อไป จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทําเกิดวิกฤติการบินพลเรือนจนเป็นเหตุให้ ICAO ประกาศติด “ธงแดง” ให้กับประเทศไทย และ FAA ประกาศลดอันดับมาตรฐาน ความปลอดภัยการบินพลเรือนของไทยเป็น Category 2 โดยมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของกรมการบินพลเรือนในการกํากับดูแลงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) ด้านการออกใบรับรอง การดําเนินงานด้านการปฏิบัติการบินของอากาศยาน (Aircraft operations) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2) การดําเนินงานด้านความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน (Airworthiness of aircrafts) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 3) การขนส่งสินค้าอันตรายทางอากาศ (Dangerous goods) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 4) ผู้ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน (Inspectors) มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน และ 5) การออกใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก (Airline transport pilot license) ออกโดยผู้ตรวจที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน แนวทางในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนไทยอย่างยั่งยืนสําหรับสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) (เดิมคือกรมการบินพลเรือน) ประกอบด้วย 1) การแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดย กพท. ควรมุ่งเน้นแก้ไขข้อบกพร่องตามลําดับความสําคัญที่ ICAO ระบุไว้ในรายงานผลการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะข้อบกพร่องที่ต้องปฏิบัติในทันที (Immediate priorities) และข้อบกพร่องที่มีความสําคัญต้องปฏิบัติ (High priorities) รวมถึงมุ่งเน้นที่การไขข้อบกพร่องที่ FAA ระบุในด้านคุณสมบัติผู้ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน 2) การแก้ไขปัญหาระยะยาว ภาครัฐควรให้ความสําคัญกับกิจการการบินพลเรือน ควรปรับย้ายหน่วยงานสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ให้ขึ้นตรงกับ กพท. และย้ายหน่วยงาน ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยให้ขึ้นตรงต่อสํานักนายกรัฐมนตรี ควรให้อิสระแก่ กพท. ในการบริหารงานอย่างแท้จริง ส่วนการบริหารงานของ กพท. นั้น ควรสนับสนุนให้ผู้มีความสามารถมีโอกาสเจริญก้าวหน้าเพื่อเป็นการจูงใจไม่ให้ลาออก และควรนํากระบวนการบริหารรัฐกิจมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และ 3) ข้อเสนอแนะสําหรับการพัฒนาการบินพลเรือนไทยสู่ความเป็นเลิศ ผู้บริหาร กพท. ควรเป็นผู้นําที่สามารถมองภาพกว้างด้านการบินพลเรือนและมุ่งเน้นที่จะพัฒนา องค์การให้มีสมรรถนะสูง ควรวางโครงสร้างพื้นฐานองค์การให้มีความพร้อม มีระบบการทํางานที่ดี พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถอย่างสม่ำเสมอใช้กลยุทธ์ลดจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง ควรสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือกับองค์การที่เกี่ยวข้อง และสร้างพันธมิตรการบินกับนานาชาติ