Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเตรียมความพร้อมของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาในการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล 2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 กับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา 3. เพื่อศึกษาแนวทางการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา (ศูนย์บางแสน) จำนวน 400 คน และสัมภาษณ์คณบดี จำนวน 5 คน โดยใช้เครื่องมือการวิจัยเป็นแบบสอบถามแบบประเมินค่า (Rating scale) ที่ผ่านการหาคุณภาพด้านความตรง (Validity) และความเชื่อมั่น (Reliability) และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติการแจงนับความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ทดสอบความแตกต่างของตัวแปร (One-way ANOVA F-test) และทดสอบความสัมพันธ์ของตัวแปร (Multiple linear regression) ผลการวิจัย การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา (ศูนย์บางแสน) สรุปได้ดังนี้ 1. นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา (ศูนย์บางแสน) มีการเตรียมความพร้อมเพื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ในภาพรวมและในรายด้านทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) การพัฒนาตนเองด้านทักษะภาษา การพัฒนาตนเองด้านกระบวนการความคิดอย่างเป็นระบบ และการเรียนรู้นอกห้องเรียน อยู่ในระดับค่อนข้างมาก 2. นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา (ศูนย์บางแสน) มีการรับรู้ผลกระทบที่เกิดจากการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ในภาพรวมและรายด้านทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการรับรู้ Thailand 4.0 ด้านผลกระทบต่อตนเอง (การจ้างงาน) ด้านผลกระทบต่อตนเอง (วิธีการทำงานในอนาคตที่เปลี่ยนไป) ด้านผลกระทบต่อตนเอง (การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป) และด้านผลกระทบต่อต่อประเทศ (การแข่งขันระหว่างประเทศ) อยู่ในระดับค่อนข้างมาก 3. ผลการทดสอบสมมติฐานที่ 1 พบว่า เพศแตกต่างกันส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ด้านการเรียนรู้นอกห้องเรียนแตกต่างกัน อายุแตกต่างกันส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ด้านการพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ด้านการเรียนรู้นอกห้องเรียน และด้านการพัฒนาตนเองด้านกระบวนการความคิดอย่างเป็นระบบ แตกต่างกัน ระดับชั้นปีที่กำลังศึกษาแตกต่างกันส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ด้านการเรียนรู้นอกห้องเรียนแตกต่างกัน คณะที่กำลังศึกษาแตกต่างกัน ส่งผลต่อ การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ด้านการพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ด้านการพัฒนาตนเองด้านทักษะภาษา ด้านกระบวนการความคิดอย่างเป็นระบบ และด้านการเรียนรู้นอกห้องเรียน แตกต่างกัน 4. ผลการทดสอบสมมติฐานที่ 2 พบว่า การรับรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 มีความสัมพันธ์กับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ของนิสิตด้านการพัฒนาตนเองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ร้อยละ 50.2 ด้านการพัฒนาตนเองด้านทักษะภาษา ร้อยละ 39.2 ด้านกระบวนการความคิดอย่างเป็นระบบ ร้อยละ 46.8 ด้านการเรียนรู้นอกห้องเรียน ร้อยละ 44.4