Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วม ระดับการมีส่วนร่วม ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วม ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงรูปแบบการพัฒนาการมีส่วนร่วมของเครือข่ายที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ในจังหวัดจันทบุรี ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม ประชากรได้แก่ เครือข่ายที่ปรึกษาในจังหวัดจันทบุรี และผู้ให้ข้อมูลสำคัญ คือ ตัวแทนเครือข่ายที่ปรึกษาในจังหวัดจันทบุรี การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพรรณา และสถิติอนุมานการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การอรรถาธิบาย ผลการวิจัย พบว่า การมีส่วนร่วมโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางการมีส่วนร่วมของเครือข่ายที่ปรึกษาส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมครบทุกกระบวนการยกเว้น ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม ปัจจัยที่สามารถทำนายการมีส่วนร่วม ได้แก่ การสนับสนุนจากภาครัฐ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาและอุปสรรค ประกอบด้วย 1) ปัญหาและอุปสรรคด้านภาครัฐ ได้แก่ การขาดการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องข้อจำกัด ด้านกฎหมาย ทัศนคติของผู้บริหาร และขาดการประชาสัมพันธ์ และ 2) ปัญหาอุปสรรคด้านเครือข่ายที่ปรึกษาได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ และสัดส่วนในการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ตัวแทนขาดความต่อเนื่องในการมีส่วนร่วม และปัญหาการสะท้อนข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แนวทางการแก้ไข ประกอบด้วย 1) การสร้างความรู้ความเข้าใจ 2) สร้างทัศนคติผู้บริหาร 3) สร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม 4) สร้างความเชื่อมโยงการทํางาน 5) สร้างกลไกการสะท้อนปัญหา และ 6) ปรับการดำเนินภารกิจของเครือข่ายรูปแบบการพัฒนาการจะต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการพัฒนาก่อนการเข้าสู่กระบวนการมีส่วนร่วมไปจนถึงกระบวนการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายที่ปรึกษาให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป