Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์การและความผูกพันต่อองค์การของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปรียบเทียบความผูกพันต่อองค์การจำแนกตาม เพศ อายุ ระดับการศึกษา อายุงาน รายได้ต่อเดือน ประเภทตำแหน่ง สถานภาพและประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบวัฒนธรรมองค์กรกับความผูกพันต่อองค์การของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 280 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ Independent samples t-test, F-test เปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธีของ LSD และทดสอบความสัมพันธ์ด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson correlation coefficient)
ผลการวิจัยพบว่า วัฒนธรรมองค์การของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ วัฒนธรรมองค์การแบบเครือญาติ วัฒนธรรมองค์การแบบปรับตัว วัฒนธรรมองค์การแบบมุ่งผลสำเร็จ และวัฒนธรรมองค์การแบบราชการ อยู่ในระดับมาก ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความผูกพันต่อองค์การอยู่ในระดับมาก ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นพบว่า ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานภาพสมรส สังกัดประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แตกต่างกันมีความผุกพันต่อองค์กรการแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา อายุงาน รายได้ เฉลี่ยต่อเดือน และประเภทตำแหน่งต่างกันมีความผูกพันต่อองค์การไม่แตกต่างกัน และผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ พบว่า รูปแบบวัฒนธรรมองค์การ ทั้ง 4 รูปแบบมีความสัมพันธ์กับความผูกพันต่อองค์การอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยมีขนาดความสัมพันธ์ระดับสูง แปรผันในทิศทางเดียวกัน