Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาโมเดลองค์ประกอบเชิงยืนยันพหุระดับทักษะชีวิตของนักศึกษาอาชีวศึกษาในระดับนักศึกษาและระดับวิทยาลัย 2) ตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลที่พัฒนาขึ้น และ 3) พัฒนาเกณฑ์การประเมินทักษะชีวิตสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษาในระดับนักศึกษา และระดับวิทยาลัย โดยใช้การวิจัยพหุระดับแบบผสานวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถาม แบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาอาชีวศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประจำปีการศึกษา 2559 จำนวน 540 คน ได้มาจากวิธีสุ่มแบบหลายขั้นตอน และวิเคราะห์โมเดลองค์ประกอบเชิงยืนยันพหุระดับ โดยใช้โปรแกรม Mplus 7.31 และเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสรุปเป็นเกณฑ์การประเมินทักษะชีวิตสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา ผลการวิจัย ปรากฏว่า 1. โมเดลองค์ประกอบเชิงยืนยันพหุระดับทักษะชีวิตสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา ทั้งในระดับนักศึกษาและระดับวิทยาลัย ประกอบด้วย องค์ประกอบหลัก 2 ด้าน ได้แก่ 1) ทักษะทางปัญญาอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วย ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และ 2) ทักษะทางสังคม และอารมณ์ประกอบด้วย ทักษะการสร้างสัมพันธภาพ ทักษะการตระหนักรู้ในตนเอง ทักษะการเห็น อกเห็นใจผู้อื่น ทักษะการจัดการกับอารมณ์ และทักษะการจัดการกับความเครียด 2. โมเดลที่พัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดีค่า 2 เท่ากับ 55.336 ค่า df เท่ากับ 46 ค่า p เท่ากับ .163 ดัชนี TLI เท่ากับ .995 ดัชนี CFI เท่ากับ .998 ค่า SRMRW เท่ากับ .011 ค่า SRMRB เท่ากับ .031ค่า RMSEA เท่ากับ .019 และ 2 /df เท่ากับ 1.203 3. เกณฑ์การประเมินทักษะชีวิตสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา ประกอบด้วย องค์ประกอบหลัก 2 ด้าน องค์ประกอบย่อย 10 ด้าน 49 ตัวบ่งชี้และ 60 เกณฑ์การประเมิน สามารถจำแนกระดับการประเมินทักษะชีวิตสำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษาออกเป็น 5 ระดับตั้งแต่ระดับที่ 1 (ต้องปรับปรุง) ถึงระดับที่ 5 (ดีเด่น)