Abstract:
สตรีวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองน้อย จึงควรส่งเสริมให้สตรีกลุ่มนี้มีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง การวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลังการทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสร้างแรงจูงใจต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีวัยผู้ใหญ่ตอนต้น กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีอายุ 20-40 ปี คัดเลือกด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน และกลุ่มควบคุม 30 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการสร้างแรงจูงใจ จำวน 5 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสถิติทดสอบที กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีผลต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ การรับรู้ความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านม (t=3.37, p<.001) การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม (t=5.43, p<.001) การรับรู้ความสามารถของตนต่อการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (t-4.35, p<.001) การรับรู้ประสิทธิผลของการตอบสนองต่อการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (t=2.60, p<.001) และพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (t=5.89, p<.001)
ผลการวิจัยเสนอแนะว่า พยาบาลชุมชนควรนำโปรแกรมการสร้างแรงจูงใจไปประยุกต์ใช้กับสตรีวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยเน้นการสร้างการรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและการรับรู้ความสามารถของตนต่อการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองที่ยั่งยืน