Abstract:
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งของหลายประเทศทั่วโลก ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดการตีบซ้ำได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตภายหลังได้รับการใส่ขดลวดค้ำยัน การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาประสบการณ์การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันภายหลังได้รับการใส่ขดลวดค้ำยัน ดำเนินการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ป่วยที่มารับการตรวจตามนัดที่แผนกผู้ป่วยนอกโรคหัวใจ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดนครนายก จำนวน 15 ราย คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้วิธีสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตระหว่างการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลควบคู่ไปกับการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis)
ผลการวิจัยพบว่า ประสบการณ์การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตภายหลังได้รับการใส่ขดลวดค้ำยัน 2 ประเด็นสาระหลัก คือ การรับรู้ทางบวก คือ เสมือนสิ่งที่ช่วยให้ชีวิตกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ประเด็นสาระย่อย คือ 1) ทำทุกเรื่องอย่างสม่ำเสมอ 2) ทำบางเรื่องอย่างสม่ำเสมอ และการรับรู้ทางด้านลบ คือ เสมือนชีวิตที่อยู่กับข้อจำกัด ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ประเด็นสาระย่อย คือ 1) ทำแล้วหยุดเพราะไม่ได้ผล 2) ทำเมื่อมีอาการ
ผลของการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ทราบและเข้าใจประสบการณ์การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันภายหลังได้รับการใส่ขดลวดค้ำยัน ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่พยาบาล และบุคลากรทางด้านสุขภาพสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงการรับรู้การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตภายหลังได้รับการใส่ขดลวดค้ำยัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายภายหลังได้รับการใส่ขดลวดค้ำยัน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มีประสิทธิภาพต่อไป