Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรายการระหว่างกันกับการวางแผนภาษีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2559 - 2563 โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุในการวิเคราะห์ข้อมูล การวางแผนภาษีประกอบด้วย การวางแผนภาษีที่ทำให้กำไรทางภาษีลดลงโดยไม่กระทบกำไรทางบัญชี วัดค่าจากอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง และการวางแผนภาษีที่ทำให้กำไรทางบัญชีและกำไรทางภาษีลดลง วัดค่าจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์รวม
ผลการวิจัยพบว่ารายการระหว่างกันมีความสัมพันธ์กับการวางแผนภาษี โดยพบว่ารายการขายและบริการ และรายการค่าใช้จ่ายของบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน มีความสัมพันธ์เชิงลบกับการวางแผนภาษีที่วัดค่าโดยอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริงและอัตราส่วนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์รวม รายการสินทรัพย์ของบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันไม่มีความสัมพันธ์กับการวางแผนภาษีที่วัดค่าโดยอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริง แต่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการวางแผนภาษีที่วัดค่าโดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์รวม และรายการหนี้สินของบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการวางแผนภาษีที่วัดค่าโดยอัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริงและอัตราส่วนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์รวม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าหากรายการขายและบริการ และรายการค่าใช้จ่ายของบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้บริษัทมีการวางแผนภาษีที่มีประสิทธิภาพสูง ในขณะที่หากรายการสินทรัพย์และรายการหนี้สินของบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การวางแผนภาษีของบริษัทมีประสิทธิภาพต่ำ ดังนั้นรายการระหว่างกันในงบกำไรขาดทุนจึงเป็นรายการที่ทำให้การวางแผนภาษีของบริษัทมีประสิทธิภาพมากกว่ารายการระหว่างกันในงบแสดงฐานะทางการเงิน
งานวิจัยพบว่าภายหลังการบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 47 พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2562 เรื่องมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน บริษัทยังคงมีการวางแผนภาษี แสดงให้เห็นว่าการยื่นแบบรายงานประจำปีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Disclosure form) ไม่ได้ช่วยลดแรงจูงใจในการวางแผนภาษีของบริษัท